“เสน่หา” มีผลต่อรายได้แค่ไหนกัน? (ตอนที่ ๒ – คนแสนดี)
“เสน่หา” เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของคนส่วนใหญ่ เพราะจะทำให้เราเป็นที่สนใจ ในบทความตอนที่ ๒ นี้เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นคนแสนดี” ที่หลายคนพยายามจะเป็นเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบตัว บทความวิชาการจะบอกว่ามันมีผลอย่างไรกับรายได้ของเรา
……….
ในตอนที่ ๑ เป็นตอนที่เกี่ยวข้องกับ “ความสวย/หล่อ” ซึ่งเป็นเสน่หาที่มาจากรูปลักษณ์ภายนอก แต่ในตอนที่ ๒ นี้จะเกี่ยวข้องกับ “ความแสนดี” ซึ่งเป็นเสน่หาที่มาจากพฤติกรรม
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ความแสนดี” (Nice Guy) ในที่นี้ ไม่ได้ตรงข้ามกับ “ความแสนเลว” (Jerk Guy) เพราะถ้าเลว ย่อมไม่ดีแน่ๆ แต่มันหมายถึงคนที่มีลักษณะคล้าย Yes Man ไม่กล้าปฏิเสธ ไม่กล้าขัดใจผู้อื่น และมักจะมีความสุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนอื่นเป็นหลัก ที่จริงแล้ว มันคือนิสัย “ยังไงก็ได้” (Agreeableness) นั่นเอง
Glover (2003) อธิบายว่า ความแสนดีเป็นอาการของโรคประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า Nice Guy Syndrome ซึ่งมักเกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ที่ให้ความสนใจมากเกินไป หรือน้อยเกินไป (เด็กจึงเรียกร้องความสนใจ) โดยปัจจัย 2 ประการที่คนพยายามทำตัวแสนดีก็เพราะ ๑) ความกลัวที่จะไม่ได้รับความสนใจ (The Fear of Abandonment) และ ๒) ความเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Ego-centeredness)
พวกเขาเชื่อว่าการทำดีกับคนอื่นๆ จะทำให้ตัวเขาเองมีความสำคัญ (ตัวเองจะได้รับความสนใจ) และคนอื่นก็จะทำดีกับตัวเองด้วย (ตัวเองจะกลายเป็นศูนย์กลาง) ขณะที่หากเขาทำได้ไม่ดี หรือหากเขาปฏิเสธเรื่องใดใดก็ตาม เขาจะกลัวมากกับความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความสนใจ และไม่ได้เป็นศูนย์กลาง พวกเขาจึงพยายามตอบรับกับทุกสิ่ง โดยไม่ปฏิเสธใดใด [สำหรับผม หนังสือของ Glover (2003) ดีมากๆ กับการทำความเข้าใจเรื่องนี้ครับ]
“ภาพที่ ๑ ปกหนังสือ No More Mr.Nice Guy โดย Glover”
ความแสนดีอาจมีข้อดีในด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว (Graziano and Tobin, 2002) และช่วยให้ชีวิตแต่งงานยืนยาว (Digman, 1997) แต่ในด้านการทำงานแล้ว การเป็นคนที่แสนดีจะทำให้เขาต้องทำงานหนักกว่าปกติ เพราะต้องแบกรับความช่วยเหลือคนอื่น และอาจส่งผลโดยตรงให้เขาไม่สามารถทำงานของตัวเองได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น หรืออาจส่งผลทางอ้อมต่อช่วงเวลาว่างหรือพักผ่อนที่ลดลง ซึ่งก็จะต่อเนื่องมายังงานของตัวเองเช่นกัน
……….
Judge, Livingston and Hurst (2011) ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ นิสัยยังไงก็ได้ และรายได้ โดยแบบจำลองของเขาได้คำนึงถึงปัจจัยทางด้านประสาทวิทยา (Neuroticism) ซึ่งหมายถึงความไม่มั่นคงทางอารมณ์ และปัจจัยทางด้านการมองโลกในแง่ดี (Extraversion) ที่จะไปมีผลต่อรายได้ที่สูงขึ้นผ่านความสำเร็จในหน้าที่การงานไว้แล้ว เพราะจะไปทับซ้อนกับผลการประมาณค่าของนิสัยยังไงก็ได้ ทำให้ต้องควบคุมปัจจัยทั้งสองตัวนี้ด้วย
กลุ่มตัวอย่างจะถูกสำรวจจากผู้ที่เคยตอบแบบสอบถามของ the National Longitudinal Surveys of Youth (NLSY97) ที่จัดทำโดย the National Opinion Research Center (NORC) แห่ง University of Chicago โดยเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และผู้ถูกสัมภาษณ์จะได้ค่าตอบแทน 10 เหรียญ สรอ.เป็นค่าเสียเวลา กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 560 คน โดยจะต้อง ๑) ทำงานนอกบ้าน ๒) ไม่ได้กำลังเรียนหนังสือแบบเต็มเวลา และ ๓) ทำงานอย่างน้อย 1,000 ชั่วโมงต่อปี
นิสัยยังไงก็ได้ จะถูกวัดโดยคำถามสามข้อ ๑) คุณรู้สึกว่าคุณเป็นคนยังไงก็ได้หรือไม่? 1 หมายถึง กล้าออกความเห็น 5 หมายถึง ยังไงก็ได้ ๒) คุณรู้สึกว่าคุณเข้ากับคนอื่นยากหรือไม่? 1 หมายถึง เข้ากับคนอื่นยาก 5 หมายถึง เข้ากับคนอื่นง่าย และ ๓) คุณรู้สึกว่าคุณเป็นคน(ดื้อ)รั้นหรือไม่? 1 หมายถึง โอนอ่อนผ่อนตาม 5 หมายถึง (ดื้อ)รั้น
ข้อ ๑ จะถูกวัดค่าโดยตรง แต่ข้อ ๒ และ ๓ จะถูกวัดกลับด้าน (หมายถึง จาก 5 ไป 1) และค่าเฉลี่ยของคำตอบของทั้งสามคำถามอยู่ที่ 0.79 จาก 1.00
ตารางที่ ๑ แสดงผลการประมาณค่าความสัมพันธ์ระหว่างนิสัยยังไงก็ได้ กับรายได้ พบว่า นิสัยยังไงก็ได้จะทำให้รายได้ลดลงกว่าระดับที่ควรจะเป็น 14% หรือ 3,921 เหรียญ สรอ.ต่อปี หากเป็นผู้ชายรายได้ลดลงกว่าระดับที่ควรจะเป็น 21% หรือ 6,958 เหรียญ สรอ.ต่อปี ขณะที่หากเป็นผู้หญิงรายได้ลดลงน้อยกว่ากรณีผู้ชาย [และไม่มีผลทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ] โดยลดลงกว่าระดับที่ควรจะเป็น 5% หรือ 1,357 เหรียญ สรอ.ต่อปี
นั่นหมายความว่า นิสัยยังไงก็ได้จะมีผลในทางลบสูงมากต่อรายได้ของผู้ชาย แต่ไม่มีผลที่ชัดเจนในกรณีของผู้หญิง
“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าสมการ (จากบทความหลัก)”
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนที่มีนิสัยยังไงก็ได้ (+1 SD) กับคนที่กล้าปฏิเสธ (-1 SD) ดังภาพที่ ๒ จะพบว่า กรณีของผู้ชาย ความแตกต่างระหว่างรายได้จะสูงถึง 10,854 เหรียญ สรอ.ต่อปี หรือกล่าวได้ว่า คนที่มีนิสัยกล้าปฏิเสธจะมีรายได้สูงกว่าคนที่มีนิสัยยังไงก็ได้ถึง 35% ขณะที่กรณีของผู้หญิง คนที่มีนิสัยกล้าปฏิเสธจะมีรายได้สูงกว่าคนที่มีนิสัยยังไงก็ได้เพียง 1,852 เหรียญ สรอ.ต่อปี หรือ 6% เท่านั้น
“ภาพที่ ๒ รายได้ที่แตกต่างกันระหว่างคนแสนดี (+1SD) และคนที่กล้าปฏิเสธ (-1SD) (จากบทความหลัก)”
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้แนะนำให้คุณกลายเป็นคนแสนเลวแทนคนแสนดี เพียงแต่ว่าถ้าคุณไม่กล้าปฏิเสธหรือรักษาสิทธิของตัวคุณเอง คนอื่น(บางคน)จะเอาเปรียบคุณ จนอาจกระทบต่อการทำงานของตัวคุณเอง รวมทั้ง ถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน คุณต้องกล้าเป็นตัวของตัวเองมากกว่าที่จะไม่แสดงความขัดแย้งใดใดเลย เท่านั้นเองครับ ^^
ขอขอบคุณ อาจารย์ จิรยุทธ์ จันทนพันธ์ ที่เคยแชร์ประเด็นนี้เอาไว้ใน facebook จนเป็นที่มาของบทความนี้ครับ
อ้างอิง
Digman, J. M. (1997). Higher-order factors of the big five. Journal of Personality and Social Psychology, 73, 1246-1256.
Glover, Robert A. (2002). No More MR Nice Guy. Running Press Book Publishers.
Graziano, W. G.; Tobin, R. M. (2002). Agreeableness: Dimension of personality or social desirability artifact? Journal of Personality, 70, 695-727.
Judge, Timothy A.;Livingston, Beth A.;Hurst, Charlice (2011) Do nice guys—and gals—really finish last? The joint effects of sex and agreeableness on income. Journal of Personality and Social Psychology, Nov 28.