“อเมริกันป๊อป” แย่งส่วนแบ่งตลาดเพลงท้องถิ่นหรือไม่?
การขยายตัวของภาพยนตร์ Hollywood ส่งผลใหุ้ตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในประเทศของประเทศต่างๆ นั้นหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แล้วการขยายตัวของเพลงป๊อปอเมริกัน โดยเฉพาะผ่านช่องทางการค้าทางอินเตอร์เน็ตไปทั่วโลกจะส่งผลแบบเดียวกันหรือไม่
……….
การพัฒนาของระบบสื่อสารยุคใหม่เชื่อมโลกให้มีความใกล้กันมากขึ้น โดยเฉพาะการขายเพลง (Music Trade) ที่คนในประเทศหนึ่งสามารถกดซื้อ(หรือฟัง)เพลงจากอีกประเทศหนึ่งได้อย่างง่ายดาย นี่ยังไม่นับว่าในปัจจุบัน สินค้าเพลงได้กลายเป็นสินค้าที่ไม่มีต้นทุนการขนส่ง(ผ่านเทปคาสเซ็ตต์หรือซีดี)อีกต่อไป
“Britney Spears หนึ่งในราชินีของอเมริกันป๊อป” (ที่มาของภาพ)
แล้วทำไมต้องสนใจสินค้าเพลง ทั้งนี้ก็เพราะสินค้าที่คล้ายกันอย่างภาพยนตร์นั้น แทบไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่าสินค้าภาพยนตร์จาก Hollywood ทดแทนสินค้าภาพยนตร์ท้องถิ่นหรือไม่ กระทั่งในยุโรปอันเป็นที่รับรู้กันดีว่ามีความอนุรักษ์นิยมในชาติตนเองสูงมาก ยังถูกภาพยนตร์อเมริกันครองรายได้ไปถึงสองในสามของตลาด และตลาดเพลงอเมริกันนั้นมีขนาดใหญ่ถึงครึ่งหนึ่งของตลาดภาพยนตร์ในอเมริกันเสียด้วย
จากปี 2001 ถึง 2007 มีศิลปินอย่างน้อย 31 คนที่ขยับขึ้นชาร์ทเพลงฮิตมากกว่า 18 ประเทศในช่วงปีเดียวกัน และส่วนใหญ่เป็นศิลปินที่มาจากฝั่งอเมริกา (ดูตารางที่ ๑)
“ตารางที่ ๑ รายชื่อศิลปินที่ติดอันดับชาร์ทเพลงฮิตภายในปีเดียวกันมากกว่า 18 ประเทศ”
……….
Ferreira and Waldfogel (2010) ทำการศึกษาว่า การขยายตัวของ“อเมริกันป๊อป”ในประเทศต่างๆ นั้น เข้าไปทดแทนตลาดเพลงท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ หรือไม่ พวกเขาใช้ข้อมูลจากชาร์ทเพลงฮิตของ 22 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 98% ของมูลค่าการค้าในตลาดเพลงทั้งโลก ตลอดช่วงปี 1960 ถึง 2007 นับจำนวนอันดับที่เอามาใช้ในการประมาณค่าสมการทั้งสิ้น 1,222,384 อันดับ (จำนวนเพลงจะน้อยกว่านี้เพราะมีการนับซ้ำเมื่อขึ้นชาร์ทต่างๆ ในคนละประเทศ)
อย่างไรก็ดี ในการประมาณค่า Ferreira and Waldfogel (2010) จำเป็นต้องใช้ยอดขายของเพลงแทนอันดับเพลง โดยพวกเขาทำการประมาณค่ายอดขายเพลงบนพื้นฐานสมการของ Chevalier and Goolsbee (2003) [แม้ว่าอาจจะมีข้อโต้แย้งถึงความไม่แม่นยำอยู่บ้างในประเด็นนี้ แต่ส่วนมากแล้วอันดับเพลงกับยอดขายจะมีความสัมพันธ์กันสูง]
ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าจะมีตลาดเพลงที่ใหญ่ตามไปด้วย โดยภาพที่ ๑ แกนนอนคือสัดส่วนของ GDP จาก 22 ประเทศตัวอย่าง และแกนตั้งคือสัดส่วนของมูลค่าการบริโภคเพลงจาก 22 ประเทศตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าทั้งสองข้อมูลนี้มีความสัมพันธ์เป็นบวก
“ภาพที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจและสัดส่วนของมูลค่าตลาดเพลง”
รูปที่ ๒ แกนนอนคือสัดส่วนของ GDP จาก 22 ประเทศตัวอย่าง และแกนตั้งคือสัดส่วนของมูลค่าการค้าเพลงจาก 22 ประเทศตัวอย่าง แสดงให้เห็นอย่างหยาบๆ ว่ามีความสัมพันธ์ในทางบวกเช่นกัน นั่นคือ ประเทศที่มีขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะทำการค้าเพลงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเทศที่อยู่เหนือเส้นทะแยงมุม ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีสัดส่วนการค้าเพลงมากกว่าสัดส่วน GDP นั้นล้วนแต่เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ได้แก่ USA UK Canada Sweden Finland และ Netherlands ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดของตลาดเพลงใหญ่มากๆ กลับแทบไม่มีการค้าเพลงเลย
“ภาพที่ ๒ ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจและสัดส่วนของมูลค่าการค้าเพลง “
……….
Ferreira and Waldfogel (2010) ใช้แบบจำลอง Gravity ซึ่งเป็นที่นิยมในการวิเคราะห์การค้าสินค้าทั่วไป โดยปัจจัยกำหนดการค้าเพลงของสองประเทศขึ้นอยู่กับระยะทาง (Distance) ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วย ความเหมือนกันของภาษา (Language) ถ้าเป็นภาษาเดียวกันก็จะค้ากันได้ง่ายขึ้น และความชอบเพลงท้องถิ่น (Home Market Bias) ซึ่งวัดจากส่วนต่างระหว่างสัดส่วนของมูลค่าการบริโภคเพลงกับสัดส่วนของมูลค่าการค้าเพลงในประเทศนั้นๆ เช่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีตลาดเพลงใหญ่มาก แต่กลับมีมูลค่าการค้าเพลงกับโลกน้อย แสดงว่าตลาดญี่ปุ่นผลิตเองขายเองเป็นหลัก
“iTunes หนึ่งในช่องทางการค้าขนาดใหญ่ของอเมริกันป๊อป” (ที่มาของภาพ)
ผลการประมาณค่าแสดงได้ตามตารางที่ ๒ พบว่าประเทศที่อยู่ห่างกันมากขึ้น (วัฒนธรรมต่างกัน) จะมียอดขายเพลงต่อกันน้อยลง ภาษาเดียวกันทำให้ยอดขายเพลงมากขึ้นค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นว่าภาษาเป็นอุปสรรคของการค้าเพลงที่าำคัญ แต่ที่น่าสนใจก็คือ มูลค่าการค้าเพลงท้องถิ่นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดเพลงในประเทศนั้นๆ ด้วย นั่นย่อมหมายความว่า อเมริกันป๊อป(หรือเพลงป๊อปของชาติอื่นๆ)ไม่อาจทดแทนตลาดเพลงท้องถิ่นได้
“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าโดยแบบจำลอง Gravity”
บทความยังทำการแยกวิเคราะห์ในช่วงทศวรรษต่างๆ กันตั้งแต่ปี 1960s ถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา ผลที่ได้ก็ไม่ต่างกันมากนัก (ดูตารางที่ ๓)
“ตารางที่ ๓ ผลการประมาณค่าโดยแบบจำลอง Gravity จำแนกตามรายทศวรรษ”
……….
กล่าวโดยสรุปก็คือ ตลาดเพลงในโลกมีการเติบโตสูงขึ้นมากในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าอเมริกันป๊อปจะมีการขยายตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน แต่หากพิจารณาในรายประเทศแล้ว ตลาดเพลงท้องถิ่นนั้นมีการขยายตัวสูงกว่าเพลงต่างชาติที่เข้าไปขายในประเทศนั้นๆ อยู่ดี นั่นจึงอาจกล่าวได้ว่าอเมริกันป๊อปและเพลงต่างชาติสามารถทดแทนเพลงท้องถิ่นได้อย่างจำกัด และเป็นเช่นนี้มาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ดี งานศึกษาชิ้นนี้แยกประเภทของเพลงท้องถิ่นจากสัญชาติของนักร้องเป็นหลัก จึงไม่ได้กล่าวถึงว่าอเมริกันป๊อปอาจเข้าไปแทรกตัวอยู่ในทำนองหรือดนตรีของชาตินั้นๆ และการที่บทเพลงของบางประเทศสามารถส่งออกได้ก็เพราะมาในแนวของอเมริกันป๊อปไม่ใช่แนวของท้องถิ่นเช่นกัน บทบาทของอเมริกันป๊อปจึงอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็นก็เป็นได้ รวมทั้งยังสามารถตีความคำว่าแย่งตลาดในความหมายที่แตกต่างกันได้ ซึ่งอาจเป็นข้อวิจารณ์ของงานชิ้นนี้ได้
สุดท้ายก็ขอให้เพื่อนๆ ฟังเพลงที่ชอบและมีความสุขกับเพลงที่ฟังละกันครับ ขอจบแบบห้วนๆ อย่างนี้ล่ะครับ ^^
ที่มา: Fernando Ferreira & Joel Waldfogel, 2010. “Pop Internationalism: Has A Half Century of World Music Trade Displaced Local Culture?,” NBER Working Papers 15964, National Bureau of Economic Research, Inc.
featured image from here