“แตกต่าง ไม่แตกแยก” หรือ “แตกแยก ไม่แตกต่าง”?
“แตกต่าง ไม่แตกแยก” เป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทยปัจจุบัน เพราะมันคือเป้าหมายที่สังคมอยากให้เป็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าลองสลับคำกันดู จะกลายเป็นคำว่า “แตกแยก (ทั้งที่)ไม่แตกต่าง” ซึ่งก็สามารถเป็นไปได้เช่นเดียวกัน คำถามก็คือ คำไหนมันเป็นไปได้มากกว่ากัน
……….
ขอเริ่มจากการทำความเข้าใจคำว่า “แตกต่าง” กับ “แตกแยก” ก่อน คำว่าแตกต่างมักเป็นการเปรียบเทียบระหว่างตัวบุคคล เช่น คนที่หนึ่งแตกต่างจากคนที่สอง ขณะที่คำว่าแตกแยกมักใช้กับพฤติกรรมกลุ่ม เช่น มีการแตกแยกกันภายในกลุ่ม หรือมีการแตกแยกกันระหว่างกลุ่ม ดังนั้น “แตกต่าง” จึงเป็นคำอธิบายในระดับจุลภาค (Micro Aspect) ขณะที่ “แตกแยก” เป็นคำอธิบายระดับมหภาค (Macro Aspect)
Thomas Schelling นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2005 ได้นำเสนอแบบจำลองการแบ่งแยก (Segregation Model) ซึ่งในตอนที่เขานำเสนอนั้น เขามุ่งไปที่การทำความเข้าใจสถานการณ์การแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐอเมริกา โดยด้วยการหาความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของบุคคล(ในระดับจุลภาค)กับความแตกแยกในสังคม(ในระดับมหภาค) แต่คุณูปการของแบบจำลองนี้กลับสามารถประยุกต์กับกรณีอื่นที่เป็นการรวมกันของความแตกต่างในสังคมได้มากกว่าแค่การแบ่งแยกสีผิว เช่น ความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง หรือฐานะความเป็นอยู่ที่แตกต่างได้ด้วยเช่นกัน
“Thomas Schelling นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล” (ที่มาของภาพ)
……….
ในโลกความเป็นจริง เรามองเห็นภาพความขัดแย้งได้เฉพาะภาพของ”ความแตกแยก”ในระดับมหภาค และเราก็มักเชื่อหรือถือเอาว่าสถานการณ์ว่าความแตกแยกในระดับมหภาคดังกล่าวสะท้อนมาจากความขัดแย้งอันเกิดจาก”ความแตกต่าง”ในระดับจุลภาคด้วยความรุนแรงที่เหมือนๆ กัน ทั้งนี้เป็นเพราะเราไม่สามารถวัดความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างในระดับจุลภาคได้
บทความจะขอเริ่มอธิบายจากภาพจุลภาคไปสู่มหภาค ซึ่งจะทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ตามแนวคิดของ Schelling ได้ง่ายกว่า แล้วจะทำการสรุปจากภาพมหภาคกลับไปสู่จุลภาคอีกครั้งหนึ่ง
เริ่มต้นจากการสมมติว่าในสังคมมีคนอยู่ 2 แบบ ได้แก่ คนสีฟ้า และ คนสีแดง ซึ่งคนทั้งสองแบบมีความคิดที่ไม่ตรงกัน คนทั้งสองแบบจึงมี”ความแตกต่าง” แต่ต้องมาอยู่รวมกันในสังคมเดียวกัน
สมมติว่าเราเป็นคนสีแดงที่มีบ้านอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่ง โดยมีเพื่อนบ้านล้อมรอบ 7 คนจาก 8 ทิศ [1 ทิศที่เว้นไว้ เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับย้ายบ้านไปมาได้] หากเพื่อนบ้าน 7 คนเป็นสีแดงเหมือนกับเรา ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครแตกต่างจากเราเลย ขณะที่หากเพื่อนบ้าน 7 คนใน 8 ทิศ เป็นสีฟ้าทั้งหมด ความขัดแย้งก็จะมากที่สุด เพราะไม่มีใครเหมือนเราเลย (ดูรูปที่ ๑)
“ภาพที่ ๑ ตัวเราและเพื่อนบ้านที่มีความเหมือนและแตกต่างแบบสุดขั้ว”
ในความจริงอาจไม่มีกรณีสุดขั้วดังตัวอย่างข้างต้น แต่จะเป็นกรณีที่มีเพื่อนบ้านคละสีกัน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า คนแต่ละสีจะสามารถอดทนต่อความแตกต่างจากคนสีอื่นได้ในสัดส่วนเท่าไหร่กัน
เริ่มต้นจากการมี “ดุลยภาพเชิงพื้นที่” (Spatial Equilibrium) ตามรูปที่ ๒ นั่นคือ เรา(สีแดง)รับได้กับการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่มีสีแดง(อย่างน้อย)ในสัดส่วน 3 คนใน 7 คน หรือต้องมีความชอบต่อความเหมือนกัน (Similarity Preference) ที่ 3/7 นัยยะก็คือถ้ามีสีแดงด้วยกันสักเกือบครึ่งหนึ่งก็สามารถอยู่ร่วมกันได้แล้ว (แน่นอนว่าในโลกความเป็นจริงความสามารถในการรับความแตกต่างได้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ในที่นี้สมมติว่าทุกคนมีเท่ากันคือ 3/7)
“ภาพที่ ๒ ดุลยภาพเชิงพื้นที่ก่อนการเริ่มแบบจำลอง”
เมื่อเกณฑ์ความชอบต่อความเหมือนกันที่รับได้คือ 3/7 การย้ายบ้านหนีของเราสามารถเกิดได้จาก 2 กรณี หนึ่งคือ เราจะย้ายออก ถ้ามีเพื่อนบ้านสีแดงคนหนึ่งย้ายออก เพราะความเหมือนจะกลายเป็น 2/6 < 3/7 กรณีนี้เรียกว่า Exodus Tip หรือเราก็จะย้ายออกเช่นกัน ถ้ามีเพื่อนบ้านสีฟ้าย้ายเข้า ความเหมือนจะกลายเป็น 3/8 < 3/7 กรณีนี้เรียกว่า Genesis Tip (ดูรูปที่ ๓) ก็คือถ้าเมื่อไรก็ตามที่ความเหมือนต่ำกว่า 3/7 เราจะย้ายออก
“ภาพที่ ๓ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการย้ายออกสองรูปแบบ”
……….
กลับมาพิจารณาดุยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งทุกคนจะมีเพื่อนบ้านสีเดียวกันจำนวน 3/7 อยู่ในชุมชนเสมอ และมีอีกชุมชนที่เหมือนกันอยู่ข้างๆ ลองสมมติว่าเกิดมีเพื่อนบ้านสีแดงคนหนึ่งย้ายออกจากชุมชนบนไปยังชุมชนล่างด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น น้ำท่วม เจ้าหนี้ทวง เบื่อรถติด ฯลฯ ผลก็คือในชุมชนล่างจะมีสีแดงเพิ่มขึ้นเป็น 4/8 (> 3/7) ส่งผลให้คนสีฟ้าที่มีความอดทนต่ำที่สุดย้ายออกจากชุมชนล่างไปบน ขณะที่ในชุมชนบนจะมีสีแดงลดลงเหลือ 2/7 (< 3/7) ทำให้คนสีแดงที่มีความอดทนต่ำที่สุดก็จะย้ายออกจากชุมชนบนไปยังล่างเช่นกัน ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ชุมชนบนมีสีแดงเพียง 2/8 (< 2/7 << 3/7) และชุมชนล่างมีสีแดงถึง 5/7 (> 4/8 >> 3/7) และก็เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายสองชุมชนจะกลายเป็นชุมชนสีแดงและชุมชนสีฟ้าทั้งหมด (ดูรูปที่ ๔)
“ภาพที่ ๔ กระบวนการและผลลัพธ์ของ Segregation Model”
สิ่งที่เราเห็นในโลกความจริงคือภาพมหภาค(ภาพสุดท้าย) ซึ่งมีความแตกแยกอย่างสุดขั้ว เพราะคนสีแดงและคนสีฟ้าจะแยกกันอยู่โดยสมบูรณ์ (Absolute Separation) ทั้งๆ ที่พวกเขาชอบความเหมือนไม่ถึงครึ่ง (=3/7) หรือเรียกว่ารับความแตกต่างได้มากกว่าครึ่งด้วยซ้ำไป
……….
กระบวนการใน Segregation Model ของ Schelling นั้นสามารถประยุกต์ให้ยากขึ้นได้ เช่น มีจำนวนคนมากขึ้น พื้นที่ใหญ่ขึ้น ช่องว่างมากขึ้น/ลดลง สัดส่วนของคนสองสีที่แตกต่างออกไป ภาพที่ ๕ เป็นกระบวนการของ Segregation Model ในระดับที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
“ภาพที่ ๕ กระบวนการและผลลัพธ์ของ Segregation Model ที่ซับซ้อนมากขึ้น”
……….
ข้อสรุปของ Schelling ก็คือ “Micro Incentive ≠ Macro Aggregate” ระดับความแตกแยกในมหภาคไม่เหมือนกับระดับความแตกต่าง(ที่รับได้)ของจุลภาค
ภาพที่ ๖ เป็นการอยู่รวมกันของคนแต่ละผิวสีใน Chicago ที่ดูแตกแยกกันอย่างชัดเจน และอาจถูกทำให้เชื่อว่าสังคมจะรับได้กับความแตกต่างที่ต่ำมากๆ ซึ่ง Schelling ชี้ว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น (อย่างน้อยในระยะสั้น แต่ถ้าอยู่รวมกันเองมากเกินไป ความสามารถในการรับความแตกต่างได้จะลดลงเรื่อยๆ)
“ภาพที่ ๖ ความแตกแยกในระดับมหภาคของเมือง Chicago ซึ่งอาจไม่ได้เกิดจากความไม่ยอมรับความแตกต่างมากอย่างที่เห็น”
……….
“แตกต่าง ไม่แตกแยก” เป็นอุดมการณ์ที่ต้องพยายามทำให้ได้ในทุกสังคม แต่ความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “(ดูเหมือน)แตกแยก (ทั้งที่)ไม่แตกต่าง” ทำให้เรามองโลกในแง่ดีได้ว่า คนไทยอาจไม่ได้แตกแยกมากอย่างที่เราเห็นกันในภาพรวมก็ได้ และแน่นอนว่า หากเราส่งเสริมให้ประชาชนสามารถรับความแตกต่างได้มากขึ้นไปอีก เช่น จากที่ต้องมีเพื่อนบ้านสีเดียวกันอย่างน้อย 3/7 กลายเป็น 2/7 หรือ 1/7 ก็ได้ ภาพความแตกแยกก็จะยิ่งน้อยลงกว่าที่เห็นไปอีก และนี่คือสิ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกัน ^^
featured image from here