“ดูหมอ” เป็นสินค้าประเภทไหนกันแน่?
ดูหมอเป็นบริการประเภทหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ในด้านหนึ่งก็เกี่ยวพันกับสถิติศาสตร์ ในอีกด้านหนึ่งก็คล้ายจิตแพทย์ แต่แท้จริงแล้วบริการดูหมอเป็นสินค้าแบบไหนกันในทางเศรษฐศาสตร์ เราจ่ายกันเท่าไหร่ และรายได้สูงขึ้น เขาจะจ่ายค่าดูหมอเพิ่มขึ้นไหม บทความนี้มีคำตอบ
……….
ช่วงนี้ใกล้ปีใหม่ หลายคนอาจจะไปใช้บริการดูหมอ หรือดูดวง ซึ่งเป็นบริการประเภทหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ในด้านหนึ่ง วิชาดูหมอก็เหมือนจะเกี่ยวพันกับสถิติศาสตร์ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในอดีตและพยากรณ์ต่อไปในอนาคต ในอีกด้านหนึ่งบริการดูหมอก็ทำหน้าที่เสมือนเป็นจิตแพทย์ประเภทหนึ่งของคนในสังคมอีกด้วย เพราะเวลาที่มีปัญหาต่างๆ การดูหมอและสะเดาะเคราะห์ก็เป็นเสมือนการระบายและบำบัดความทุกข์ของคนในสังคมไปในตัว
“รูปที่ ๑ ซุ้มดูดวงของชาวจีน (ภาพโดย kelvin.schafli @flickr)”
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ตลาดการดูหมอเป็นตลาดที่มีข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Information) ที่ผู้ซื้ออาจไม่สามารถทราบว่าราคาสินค้า/บริการที่ตนต้องจ่ายไปนั้นเหมาะสมกับคุณภาพที่ได้รับหรือไม่ รวมทั้งราคาค่างวดในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันทั้งจากปัจจัยทางด้านอุปทาน เช่น ความแม่นยำและรูปแบบการดูของหมอดูแต่ละคน และปัจจัยทางด้านอุปสงค์ เช่น ความเชื่อและคุณสมบัติทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ดู และด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์นี้จึงส่งผลทำให้บริการของหมอดูมีลักษณะของสินค้าที่มีความแตกต่างกัน (Heterogeneous Goods) ภายใต้โครงสร้างตลาดประเภทกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition Market) จึงเป็นผลทำให้ราคาค่าดูหมอนั้นมีการกระจายตัว (Price Dispersion) ค่อนข้างมาก
……….
พิริยะ และ ศศินีย์ (2553) ได้ทำการเก็บกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม (Random Sample) ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 300 ตัวอย่าง โดยแบ่งเนื้อหาของแบบสอบถามออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนที่หนึ่งเป็นการสอบถามทางด้านอุปสงค์ (Demand Side) ของตัวผู้รับบริการ และในส่วนที่สองเป็นการเก็บข้อมูลทางด้านอุปทานของหมอดู (Supply Side)
ข้อมูลทางด้านอุปสงค์ พบว่า คนจำนวน 175 คนเคยใช้บริการดูหมอ เปรียบเทียบกับ 125 คนที่ไม่เคยใช้ ย่อมหมายความว่า ประมาณ 60% ของประชากรในเขตกรุงเทพมหานครเคยใช้บริการดูหมอ ผู้ใช้บริการมีการกระจายตัวในเกือบทุกช่วงอายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สถานภาพโสด และรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน รายละเอียดดูได้จากตารางที่ ๑
“ตารางที่ ๑ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้รับบริการดูหมอ (ภาพจากบทความ ๓)”
ทางด้านอุปทานหรือตัวหมอดูเองนั้น พบว่า ช่วงอายุของหมอดูที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ได้ไปใช้บริการมากที่สุดคืออายุ 30-50 ปี โดยคิดเป็นร้อยละ 49.14 รองลงมาคืออายุต่ำกว่า 30 ปีโดยคิดเป็นร้อยละ 46.29 ส่วนทางด้านเพศของหมอดูนั้น หมอดูเพศหญิงมีผู้ไปใช้บริการมากกว่าหมอดูเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 53.14 ประเภทหมอดูที่คนส่วนใหญ่ไปใช้บริการมากที่สุด คือ หมอดูวันเดือนปีเกิด หมอดูลายมือ หมอดูไพ่ยิปซี/ไพ่ป๊อก หมอดูกราฟชีวิต หมอดูฮวงจุ้ย และหมอดูโหงวเฮ้ง ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ไปใช้บริการที่บ้านหมอดู รองลงมาคือ หมอดูที่มีหน้าร้าน และวัด ตามลำดับ
ขณะที่ กฤติ (2552) ได้ทำการเก็บตัวอย่าง 400 คน ที่ใช้หรือเคยใช้บริการพยากรณ์โหราศาสตร์ใน 4 ประเภท ได้แก่ โหราศาสตร์ไทย(ผูกดวง) เลข 7 ตัว ลายมือ และไพ่ยิปซี(ไพ่ทาโรต์) อย่างละจำนวนเท่าๆ กันคือ 100 คน พบว่า ร้อยละ 66 จ่ายค่าบริการดูหมออยู่ที่ 101 – 500 บาท เกือบ 20% ของกลุ่มตัวอย่าง ไปดูหมอมากกว่าปีละ 3 ครั้ง โดยส่วนมากไปดูตามคำแนะนำของเพื่อน/มิตรสหาย/แฟน/คนรู้จักที่เคยไปใช้บริการ รายละเอียดดูได้จากตารางที่ ๒ ๓ และ ๔
“ตารางที่ ๒ ราคาค่าบริการดูหมอ (ภาพจากบทความ ๑)”
“ตารางที่ ๓ ความถี่ของการใช้บริการดูหมอ (ภาพจากบทความ ๑)”
“ตารางที่ ๔ แหล่งข้อมูลของการบริการดูหมอ (ภาพจากบทความ ๑)”
……….
พิริยะ และ ศศินีย์ (2553) ได้ทำการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อความเต็มใจจ่ายค่าบริการหมอดู พบว่า ปัจจัยทางด้านอุปทาน(ตัวหมอดู)มีผลน้อยมากต่อการตัดสินใจใช้บริการ ขณะที่ปัจจัยทางด้านอุปสงค์(ตัวผู้ใช้บริการ) พบว่า สถานภาพ รายได้ ระดับการศึกษา และอาชีพมีผลต่อความเต็มใจจ่าย โดยคนที่แต่งงานแล้วยอมจ่ายราคาสูงกว่าคนโสด คนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรียอมจ่ายสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับระดับการศึกษาอื่นๆ ขณะที่อาชีพว่างงาน/แม่บ้าน/เกษียณยอมจ่ายสูงที่สุดในทุกประเภทอาชีพ แต่ที่รองลงไปกลับเป็นอาชีพนักเรียน/นักศึกษา [เพิ่งรู้ว่าบริการดูหมอเป็นที่สนใจของนักเรียน/นักศึกษาขนาดนี้] (ดูตารางที่ ๕)
“ตารางที่ ๕ ผลการประมาณการสมการ log ของความเต็มใจจ่ายค่าบริการดูหมอ (ภาพจากบทความ ๓)”
ประเด็นที่น่าสนใจเป็นเรื่องของรายได้ที่พบว่า เมื่อรายได้สูงขึ้น ราคาค่าดูหมอที่ยอมจ่ายจะค่อยๆ สูงขึ้นจนถึง 30,000 บาท [พิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์ของรายได้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น] จากนั้นราคาค่าดูหมอที่ยอมจ่ายจะค่อยๆ ลดลงเมื่อรายได้สูงกว่านั้น [พิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์ของรายได้ที่ค่อยๆ ลดลง]
นั่นหมายความว่า ช่วงรายได้ 0 – 30,000 บาท บริการดูหมอเป็นสินค้าปกติ (Normal Goods) เพราะความเต็มใจจ่ายสูงขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น และจาก 30,001 บาทเป็นต้นไป บริการดูหมอเป็นสินค้าด้อย (Inferior Goods) เพราะความเต็มใจจ่ายลดลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น นั่นคือ รายได้ที่สูงขึ้นจะทำให้ความเต็มใจจ่ายเพื่อดูหมอสูงขึ้นแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น หากสูงไปกว่านั้นแล้ว ความเต็มใจจ่ายเพื่อดูหมอจะลดลง เท่ากับว่า หมอดูเป็นสินค้าสองประเภทในตัวของมันเอง โดยจุดแบ่งอยู่ที่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน (ดูรูปที่ ๒)
“รูปที่ ๒ ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความเต็มใจจ่าย (ภาพจากบทความ ๓)”
นอกจากนี้ งานวิจัยของ ณัฐยา (2546) ก่อนหน้านี้หลายปี ก็ให้ข้อสรุปที่คล้ายกันมากในเกือบทุกด้านกับงานวิจัย ๒ ฉบับที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งย่อมหมายความว่าพฤติกรรมการใช้บริการดูหมอของคนไทยแทบจะไม่เปลี่ยนเลยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา [ที่จริงอาจไม่เคยเปลี่ยนเลยมานานมากๆ แล้วก็เป็นได้]
อันที่จริง การไปหาหมอดูก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร รวมทั้งเป็นเรื่องของความเชื่อที่แต่ละคนอาจจะมองเห็นในสิ่งที่แตกต่างกัน แต่หากมันทำให้เราสบายใจ ไม่คิดร้ายกับใคร ดูหมอเสร็จแล้วก็มาทำความดีกับสังคม ใช้บริการอย่างมีสติ และไม่หลงงมงายจนเกินไป เท่านี้ สังคมก็คงได้ประโยชน์และความดีนั้นก็จะคืนมาลบล้างความทุกข์ใจของคนที่ไปดูหมอแล้วล่ะครับ ^^
ที่มา
กฤติ ตั้งพรโชติช่วง (2552) กระบวนการตัดสินใจใช้บริการพยากรณ์โหราศาสตร์ของผู้ใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
ณัฐยา น้อยเหลือ (2546) การวิเคราะห์อุปสงค์ของการใช้บริการหมอดูในกรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิริยะ ผลพิรุฬห์ และ ศศินีย์ ศักดากรกุล (2553) ความเต็มใจจะจ่ายในการใช้บริการหมอดู (Willingness to Pay for the Fortune Teller), วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 มิถุนายน 2553.
featured image from edupics.com