ทำไมเราต้อง check in “@Terminal 21″?
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาที่เราอยากจะนัดเพื่อนๆ ไปกินข้าว เราต้องนัดที่ Terminal 21, Siam Paragon, Esplanade, Emporium, … ทั้งที่ยังมีห้างอื่นๆ ที่มีร้านอาหารให้นั่งเหมือนกัน มุมมองของ Veblen จะช่วยอธิบายความคิดของสังคมในเรื่องนี้
……….
บทความชิ้นหนึ่งของ [เสด-ถะ-สาด].com เมื่อไม่นานมานี้เรื่อง Louis Vuitton และ Gucci “ปรับตัว” อย่างไรในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ? ได้ชี้ให้เห็นพลังอีกด้านหนึ่งของการบริโภคเพื่อแสดงสถานะของตน หรือที่ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสรองเรียกว่า “การบริโภคให้เป็นจุดสนใจ” (Conspicuous Consumption)
บทความชิ้นนี้ จะขออธิบายแนวคิดนี้ในรายละเอียด รวมทั้งจะกล่าวถึงอีกด้านหนึ่งของคำอธิบายแนวคิดนี้ที่ถูกเรียกว่า “การใช้เวลาว่างให้เป็นจุดสนใจ” (Conspicuous Leisure)
ก่อนอื่น ขอท้าวความไปถึงนักคิดคนสำคัญของสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันเก่า (Old Institutional Economics) [ที่ใช้คำว่า “เก่า” ไม่ใช่เพราะล้าสมัย แต่เพราะสำนักนี้เน้นปัจจัยทางด้านประวัติศาสตร์] ชื่อว่า Thorstein Veblen ซึ่งหนังสือเล่มสำคัญของเขาคือ “The Theory of the Leisure Class” ในปี 1899 [สมเกียรติ ตั้งนโม แปลเอาไว้ว่า “ทฤษฎีของชนชั้นที่มีเวลาว่าง”]
“ปกหนังสือ The theory of the Leisure Class (ภาพจาก wikipedia)”
Veblen มีความเชื่อในเรื่องการแบ่งชนชั้นของสังคม (Class) โดยเฉพาะว่าสังคมนั้นประกอบไปด้วย ชนชั้นที่สูงกว่า (Higher Status) และชนชั้นที่ต่ำกว่า (Lower Status) โดยพฤติกรรมของแต่ละชนชั้นนั้นก็มีความแตกต่างกัน
พฤติกรรมที่ว่าก็คือ รูปแบบการบริโภคและการใช้เวลาว่าง ซึ่งชนชั้นที่สูงกว่าจำเป็นต้องมี “การบริโภคให้เป็นจุดสนใจ” (Conspicuous Consumption) และ “การใช้เวลาว่างให้เป็นจุดสนใจ” (Conspicuous Leisure) เพื่อแสดงสถานะที่สูงกว่าชนชั้นที่ต่ำกว่า
……….
การบริโภคให้เป็นจุดสนใจก็คือการใช้จ่ายเงินเพื่อแสดงสถานะที่สูงขึ้น เช่น ในสมัยก่อน หลายบ้านต้องใช้เครื่องใช้ภายในบ้านที่ทำจากเงิน (Silver) เพื่อแสดงสถานะ ทั้งที่ถ้ามันทำจากโลหะอื่นจะใช้ง่ายกว่ามาก (เพราะไม่ต้องคอยขัด) หรือในปัจจุบันที่ หลายคนต้องใช้กระเป๋าราคาแพงกว่าที่ตนเองควรจะมี ทั้งนี้ก็เพราะสินค้าไม่ได้ทำหน้าที่แค่กระเป๋า แต่เป็นเครื่องหมายบ่งบอกสถานะด้วย สินค้าจำพวกที่ว่านี้ถือเป็น “สินค้าที่มองเห็นได้ทางสังคม” (Socially Visible Goods) ไม่ใช่ “สินค้าที่บริโภคเป็นการส่วนตัว” (Goods Consumed in Private)
ในอีกด้านหนึ่งนอกเหนือไปจากของการบริโภคสินค้าต่างๆ Veblen ยังได้กล่าวถึง การใช้เวลาว่างให้เป็นจุดสนใจ ด้วยว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันคือการใช้เวลาว่างเพื่อแสดงสถานะให้สูงขึ้น เช่น ในสมัยก่อน ผู้ชายต้องใช้เวลาว่างในการดูภาพเขียนตามหอศิลปะ หรืออ่านหนังสือจำพวกปรัชญา ไม่ต่างจากปัจจุบัน ที่ชนชั้นสูงอาจจะต้องใช้เวลาว่างในการดูเทนนิส ฟังเพลงโอเปร่า ทั้งที่อาจจะสนุกกว่าหากดูมวยไทยหรือฟังเพลงลูกทุ่ง [ไม่นับคนที่ชอบจริงจังด้วยความชอบส่วนตัวนะครับ]
“Terminal 21 (ภาพจาก emomean.wordpress.com)”
เมื่อเป็นเช่นนี้ การชวนเพื่อนไปกินข้าว และการกินข้าวเองนั้นก็ย่อมมีความต่างกัน เราอาจนับการกินข้าวเป็นได้ทั้งการบริโภคหรือการใช้เวลาว่าง แต่ที่สำคัญคือมันเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ทางสังคม จึงเท่ากับว่าเป็นการแสดงสถานะของเราไปในตัว ทำให้เวลาที่บอกนัดเจอเพื่อนๆ ที่ KFC ใน Siam Paragon กับ KFC ใน พาต้า จึงให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ยังไม่ได้นับว่า เอาเข้าจริงเรานัดร้านที่หรูหรากว่าแค่ KFC ใน Siam Paragon เสียด้วย
“ด้านนอกของ Siam Paragon ห้างสรรพสินค้าหรูหรา (ภาพโดย pahonyontin @flickr)”
“ด้านนอกของ Siam Paragon ห้างสรรพสินค้าหรูหรา (ภาพโดย pahonyontin @flickr)”
……….
อันที่จริง การบริโภคและการใช้เวลาว่างให้เป็นจุดสนใจ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับตนเองในการแสดงสถานะที่สูงกว่านั้น ยังรวมไปถึงการเข้าวัดอยู่บ่อยๆ (เพื่อบอกว่าฉันมีความดีมากกว่า) การควงดาราไปเที่ยว (เพื่อบอกว่าฉันเจ๋งกว่า) การข่มขู่คนที่ไม่ทางสู้ (เพื่อบอกว่า(พ่อ)ฉันแน่กว่า) การ check in พร้อมๆ กับชื่อเพื่อนๆ (เพื่อบอกว่าฉันมีเพื่อนคบ) และอื่นๆ อีกมาก ดังนั้น ตามแนวคิดนี้ ไม่ใช่แค่การบริโภคเท่านั้นเพื่อแสดงสถานะ แต่การใช้เวลาว่างก็มักเป็นไปเพื่อแสดงสถานะเช่นกัน
การที่ในปัจจุบันเราเห็นคนจำนวนหนึ่งทำการ check in @ Terminal 21 ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าหรูหรา ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่า เขาได้ใช้เวลาว่างในห้างสรรพสินค้าที่หรูหราราคาแพง ดูโดดเด่น และเป็นที่สนใจ ในขณะที่เขาเหล่านี้ก็อาจจะไม่ check in เวลาที่ไปเดินพาต้า หรือ Lotus ทั้งที่พวกเขาอาจจะไปเดินห้างเหล่านี้มากกว่าด้วยซ้ำ
“สัญลักษณ์ของห้างพาต้า”
ที่น่าสนใจก็คือ การบริโภคและการใช้เวลาว่างให้เป็นจุดสนใจนั้นมีความสำคัญมากต่อ “ชนชั้นกลาง” (Middle Class) เพราะพวกเขาคือชนชั้นที่ต้องการยกระดับตนเองให้สูงขึ้น ภายใต้รายได้ที่จำกัด จึงตกอยู่ในสถานะที่ต้องใช้จ่ายเพื่อแสดงสถานะเมื่ออยู่ในสังคม แต่กลับต้อง(แอบ)ประหยัดอดออม เมื่ออยู่ตัวคนเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อเอาเงินไปใช้แสดงสถานะตอนเข้าสังคม และจะวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาภายใต้วงจรเช่นนี้ของชนชั้นกลาง(และล่าง)ตามแนวคิดของ Veblen ก็คือ ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะรายได้ทั้งหมดจะไปตกอยู่กับชนชั้นนายทุน ในฐานะผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นชนชั้นสูงตัวจริง ที่ขายสินค้าและบริการให้กับชนชั้นกลาง(และล่าง)นั่นแหล่ะ โดยวงจรเช่นนี้ในระบบทุนนิยมจะค่อยๆ กลืนกินมูลค่าที่แท้จริงของทุกสิ่งทุกอย่าง จนไม่เหลืออะไรไว้เลย นอกจากดินแดนว่างเปล่าที่เต็มไปด้วยการชิงดีชิงเด่นอย่างไร้ศีลธรรม
ที่มา: Veblen, Thorstein (1899 (1994)) “The Theory of the Leisure Class: An Economic Study of Institutions” New York, N.Y., U.S.A.: Penguin Books. Also available to download “here”.