
เราจะถูก “คุมขัง” นานแค่ไหนในระหว่างการพิจารณาคดี?
หากวันนึงเรากลายเป็นผุ้ต้องหา และเราไม่ได้กระทำความผิด แน่นอนว่าเราต้องต่อสู้คดี และยืนยันความบริสุทธิ์ เคยสงสัยกันไหมว่า เราจะต้องถูกคุมขังนานแค่ไหน เพื่อต่อสู้คดีในความไม่ผิดของเรา งานวิจัยของกรมราชทัณฑ์จะช่วยบอกเราได้
……….
กระบวนการยุติธรรม (Criminal Justice) คือ แบบแผนของการดำเนินงานเพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายและให้ความยุติธรรมแก่สังคม โดยมีสถาบันตำรวจ อัยการ ศาลและราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะทำงานเชื่อมต่อกัน นับแต่เกิดการกระทำผิด มีผู้ถูกกล่าวหา ตำรวจจะต้องดำเนินการสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำผิด สอบสวนพยานหลักฐาน เพื่อส่งอัยการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนของตำรวจ สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อศาล อำนาจในการพิจารณาคดีเป็นอำนาจอิสระของศาล ซึ่งประเทศไทยแบ่งศาลออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
“นักโทษในห้องขัง (ภาพโดย ABN2 @flickr)”
สำหรับขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงจนกระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดจำเป็นต้องใช้เวลาจึงต้องควบคุมผู้ถูกกล่าวหาไว้ก่อนซึ่งอำนาจในการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดของพนักงานสอบสวนมีข้อจำกัดเพียง 3 วัน และจะต้องขออำนาจฝากขังยังเรือนจำ
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของตำรวจ อัยการ ศาล ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นขอประกันตัวได้ ส่วนผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักทรัพย์ในการประกัน หรือผู้มีอำนาจไม่พิจารณาอนุมัติ ก็จะถูกนำตัวคุมขังในเรือนจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ในการควบคุม ดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และนักโทษเด็ดขาด
ดังนั้น ผู้ต้องขังจึงจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “คนฝาก” ซึ่งค่อนข้างชัดเจนโดยข้อกฎหมายว่าควบคุมตัวได้เพียง 3 วัน “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” และ “นักโทษเด็ดขาด” ซึ่งระยะเวลาคุมขังขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาล
ที่น่าสนใจจึงเป็นในส่วนของ “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” เพราะระยะเวลาการถูกคุมขังดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสังคมและตัวผู้ต้องขังเอง ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ว่างงาน ขาดรายได้ สูญเสียโอกาสต่างๆ ทางสังคม ครอบครัว เกิดความเดือดร้อน และถึงที่สุด หากคดียกฟ้อง ก็เท่ากับว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกับสิ่งที่เสียไป แม้ว่าปัจจุบันจะมีการชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากผู้ต้องขังไม่ได้กระทำผิด แต่กฎหมายดังกล่าวก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก
……….
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีซึ่งถูกคุมขังที่เรือนจำ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนในขั้นตอนของตำรวจและอัยการ ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา-ไต่สวนในขั้นตอนของศาลชั้นต้น และผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกาในขั้นตอนของศาลอุทธรณ์-ฎีกา ซึ่งผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทั้ง 3 ประเภทนี้มีจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากสถิติช่วงปี 2542-2546 ดังตารางที่ ๑
จากตารางที่ ๑ จะเห็นว่าผู้ต้องขังระหว่างโดยเฉลี่ยในรอบ 5 ปีมีเป็นสัดส่วนมากถึง 34.87% จากจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศ ขณะที่สถิติผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากปี 2542 จำนวน 9.05 % เป็น 13.48 % ในปี 2546
“ตารางที่ ๑ สถิติผู้ต้องขังทั่วประเทศ แยกตามประเภท (ภาพจากบทความ)”
ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา กรมราชทัณฑ์ (2547) ได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) จากทะเบียนประวัติผู้ต้องขังของนักโทษเด็ดขาดจำนวน 6,884 คนเพื่อหาระยะเวลาเฉลี่ยในการถูกคุมขังของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี และทำการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี จำนวน 367 คน เพื่อทราบผลกระทบระหว่างถูกคุมขังจากเรือนจำ/ทัณฑสถานที่มีจำนวนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีสูงสุดในพื้นที่แต่ละภาคจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางเชียงราย เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี และเรือนจำกลางนครราชสีมา
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าระยะเวลาเฉลี่ยในการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี โดยภาพรวมทั้งหญิงและชายใช้เวลานานถึง 1 ปี 2 เดือน ซึ่งค่าเฉลี่ยโดยรวมเพศหญิงจะมีระยะเวลาที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดียาวนานกว่าเพศชายในทุกคดี และยาวนานกว่าค่อนข้างมากด้วย โดยเพศชายจะถูกคุมขัง ประมาณ 11 เดือน แต่เพศหญิงจะนานถึง 21 เดือนเลยทีเดียว ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากเพศหญิงมักปฏิเสธการกระทำผิดและต่อสู้คดี ในขณะที่เพศชายมักจะยอมรับสารภาพเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการต่อสู้คดี โดยผู้ต้องขังคดียาเสพติดจะมีระยะเวลาเฉลี่ยยาวนานกว่าคดีอื่นๆ ดูตารางที่ ๒
“ตารางที่ ๒ ระยะเวลาเฉลี่ยในการถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี (ภาพจากบทความ)”
สำหรับคุณลักษณะของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี (จากการสุ่มตัวอย่าง 367 คน โดยน่าจะนับได้ว่าเป็นตัวแทนของประชากรที่ถูกคุมขังอยู่ด้วย) พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 57.2% อายุต่ำกว่า 25 ปี ระดับการศึกษาประถมศึกษา 48.5% สมรสแล้ว 51% อาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มีภาระหนี้สิน 70% มีภาระรับผิดชอบในครอบครัว 77.1% คดียาเสพติด 54.2% ต่อสู้คดีและหาทนายเอง 42.2% ไม่มีหลักทรัพย์ในการประกัน 39% ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน 30.2% ระยะเวลาในการถูกคุมขังน้อยกว่า 1 ปี 55% ยอมรับว่ากระทำผิด 57.2% ปฏิเสธว่ากระทำผิด 42.8% กล่าวโดยสรุปก็เท่ากับว่าผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นคนอายุน้อย มีการศึกษาน้อย และเป็นคนจน
……….
เมื่อทำการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ถูกคุมขัง โดยใช้สเกลการวัด (X) ระหว่าง 1 ถึง 5 โดย 1 หมายถึงมีผลกระทบน้อยที่สุด และ 5 หมายถึงมีผลกระทบมากที่สุด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ผลกระทบต่อผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เห็นว่ามี
๑. “ผลกระทบด้านการควบคุม” อยู่ในระดับมาก (Χ = 3.46) โดยเฉพาะการถูกควบคุมทำให้ขาดโอกาสในการศึกษาและประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือครอบครัว
๒. “ผลกระทบด้านสภาพร่างกาย” อยู่ในระดับปานกลาง (Χ = 3.20)
๓. “ผลกระทบด้านจิตใจ” อยู่ในระดับมาก (Χ = 3.58) ส่วนใหญ่จะวิตกกังวลเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวและการต่อสู้คดี - ผลกระทบต่อครอบครัว
๑. “ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว” อยู่ในระดับปานกลาง (Χ = 3.17) ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ยังคงได้รับการ ยอมรับและให้กำลังใจจากครอบครัวในการต่อสู้คดีเป็นอย่างดี ได้รับการเยี่ยมจากญาติสม่ำเสมอ
๒. “ด้านเศรษฐกิจ” กระทบในระดับมาก (Χ = 3.44) โดยเฉพาะเรื่องครอบครัวต้องทำงานหนักมากขึ้นเมื่อผู้ต้องขังต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ทำให้ครอบครัวขาดรายได้และต้องหาเงินมาต่อสู้คดี
๓. “ด้านการยอมรับจากสังคม” อยู่ในระดับปานกลาง (Χ = 3.25)
……….
สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นเรื่องผลกระทบคงไม่ใช่แค่ว่ามีการถูกคุมขังมีผลกระทบทางด้านจิตใจหรือด้านเศรษฐกิจที่มาก เพราะน่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่อยู่ที่ว่าประเด็นของผลกระทบทางด้านร่างกายที่อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสะท้อนว่า กรมราชทัณฑ์เองก็ดูแลผู้ต้องขังได้ดีพอสมควรทีเดียว ผู้ต้องขังจึงไม่มีปัญหาทางสภาพร่างกาย รวมทั้งผลกระทบทางด้านความสัมพันธ์ของครอบครัวที่อยู่ในระดับปานกลาง ก็ย่อมแสดงให้เห็นเช่นกันว่า ครอบครัวยังคงมีบทบาทสำคัญมากเสมอกับสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะทำให้เราเห็นกระบวนการพิจารณาคดีที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ถูกตัดสินว่าไม่ได้กระทำความผิดต้องเสียโอกาสไปมาก ในอนาคตอาจจะต้องพัฒนากระบวนการเหล่านี้ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ขณะที่งานวิจัยในอนาคตน่าจะเป็นประเด็นที่ว่า สุดท้ายแล้วมีสัดส่วนของคนที่ถูกตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดมากน้อยเพียงใด และหากถูกตัดสินว่าผิดแล้ว ระยะเวลาที่ถูกจำคุกจริงเปรียบเทียบกับโทษที่ถูกตัดสินเอาไว้นั้นต่างกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
ที่มา: ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ (2547) โครงการศึกษาวิจัย “ระยะเวลาในการถูกคุมขังของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
featured image from rsgacministries.org