“คนบนโลก” รู้จักกันได้ผ่านคนกี่คน?
Six degree of separation เคยบอกเราว่า คนบนโลกใบนี้ห่างกันเพียง 6 คนเท่านั้น แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดบอกเราว่ามันลดลงมาก ด้วยการใช้ facebook ลองมาดูกันว่าเราห่างกันเท่าไหร่ และอะไรที่สามารถทำให้เราใกล้กันไปยิ่งกว่านั้นได้อีก
……….
หลายคนอาจจะรู้จักแนวคิดที่ชื่อว่า “Six degree of separation” ที่ได้รับการตีพิมพ์ในบทความชื่อ “Small World Problem” เมื่อปี 1967 โดยนักจิตวิทยาชื่อ Stanley Milgram ซึ่งเขาได้ทำการทดลองโดยให้อาสามสมัคร 296 คนจากที่ต่างๆ ส่งโปสต์การ์ด จากเพื่อนไปยังเพื่อนไปยังเพื่อนไปเรื่อยๆ ให้กับคนที่ถูกระบุชื่อไว้ [ใช้การฝากต่อๆ กัน โดยห้ามส่งไปรษณีย์]
ผลการทดลอง พบว่า โปสต์การ์ดจะถูกส่งไปหาคนที่ระบุไว้เพียงประมาณลำดับที่ 5 ของการส่งต่อเท่านั้น [ค่าที่ถูกต้องคือ 5.2 และที่เรียก six degree เพราะว่า การส่ง 5 ต่อ หมายความว่า คนที่เป็นเป้าหมายจะเป็นลำดับที่ 6]
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณถูกขอให้ส่งโปสต์การ์ดไปหานาย N (นามสมมติ) ที่บ้านหลังหนึ่งบนถนน Homestead เมือง Chapel Hill รัฐ North Carolina ประเทศสหรัฐอเมริกา ลำดับแรก คุณคงเริ่มจากนึกถึงเพื่อนที่เรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจเป็นรัฐอื่น ลำดับที่สอง เพื่อนคนนั้นอาจจะมีเพื่อนสักคนอยู่ในรัฐ North Carolina ลำดับที่สาม เพื่อนคนถัดมาอาจจะไม่ได้อยู่เมือง Chaper Hill แต่ก็จะมีคนรู้จักอยู่ที่เมืองนั้น และต่อไปเรื่อยๆ
แน่นอนว่า ถ้าเพื่อนคุณเป็นคนที่มีชื่อเสียง จำนวนการส่งต่อจะสั้นลง เช่น การส่งโปสต์การ์ดหา อั้ม พัชราภา ก็จะง่ายกว่าการส่งโปสต์การ์ดไปหาคนทั่วๆ ไป เป็นต้น
……….
ปัจจุบัน โลกเรามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมาก (น่าจะมีโอกาสหาคนๆ หนึ่งได้ยากกว่าในอดีต) แต่เครือข่ายสังคมก็เข้ามาช่วยให้สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น (น่าจะมีโอกาสหาคนๆ หนึ่งได้ง่ายกว่าในอดีต)
งานวิจัยในปี 2011 โดย facebook และ มหาวิทยาลัยแห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ทำการทดลองจากฐานข้อมูลจำนวน 721 ล้านคนบนเครือข่าย facebook (หรือมากกว่า 1 ใน 10 ของประชากรโลก) โดยจำนวนเพื่อนของเพื่อนทั้งหมดคือ 6.9 หมื่นล้านคน [มีการนับซ้ำนะครับ]
การกระจายของผู้ใช้ facebook ไม่ได้เป็นแบบโค้งปกติ โดยร้อยละ 10 ของผู้ใช้มีเพื่อนน้อยกว่า 10 คน ร้อยละ 20 มีเพื่อนน้อยกว่า 25 คน ขณะที่ค่ามัธยฐาน (Median) ของจำนวนเพื่อนอยู่ที่ 100 คนเท่านั้น ดูได้จากภาพที่ ๑
“ภาพที่ ๑ ฟังก์ชันการกระจายของจำนวนเพื่อนใน facebook (ภาพจาก Facebook Data Team)”
การทดลองครั้งนี้ไม่ได้ขอให้ใครเขียนข้อความไปหาใคร แต่เป็นการเขียนคำสั่ง Algorithm ขึ้นมา เนื่องจากข้อมูลใน facebook สามารถระบุความเป็นเพื่อนระหว่างกันได้อยู่แล้ว ผลการวิเคราะห์พบว่า หากเราต้องการรู้จักใครก็ตามบนโลกใบนี้ เขาจะอยู่ห่างจากเราเพียงลำดับที่ 4.74 เท่านั้น หรือ ก็แค่ประมาณลำดับที่ 5 เอง [ซึ่งเท่ากับว่าเราสามารถรู้จักใครก็ได้ด้วยการแนะนำเพียง 4 ต่อเท่านั้น]
จากภาพที่ ๒ แกนนอนแสดงลำดับของคน และแกนตั้งแสดงร้อยละของคนที่จะรู้จักกันได้ในแต่ละลำดับ ซึ่งเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันได้ในลำดับที่ 4 และ 5 โดยลำดับที่ 6 นั้น ไกลเกินไปแล้ว
“ภาพที่ ๒ ลำดับของคนที่สามารถรู้จักกันได้ (ภาพจาก Facebook Data Team)”
……….
อย่างไรก็ตาม ระยะห่างนี้จะสั้นลง หากอยู่ในพื้นที่ที่มีเครือข่ายการใช้ facebook มากกว่า เพราะจะทำให้หากันเจอได้ง่ายขึ้น
เช่น ถ้าเป็นประเทศเดียวกัน ก็จะหากันเจอง่ายขึ้น เพราะมากกว่าร้อยละ 84 ของการใช้ facebook เป็นการติดต่อระหว่างคนในประเทศเดียวกัน
หรือหากอายุของคนที่ตามหาเท่ากับคนที่ต้องการหา และยิ่งมีอายุน้อยลง ก็ยิ่ง[ตามหากันจนเจอ!!!]ง่ายขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มีเพื่อนในอายุเดียวกัน และคนที่มีอายุน้อยกว่ามีแนวโน้มจะมีเพื่อนมากกว่า ดูได้จากภาพที่ ๓ ซึ่งแกนนอนคือช่วงอายุ แกนตั้งคือสัดส่วนของเพื่อน
“ภาพที่ ๓ ร้อยละของอายุเพื่อนใน facebook ของผู้ใช้แต่ละช่วงอายุ (ภาพจาก Facebook Data Team)”
……….
โดยสรุปก็คือ โลกเราแคบลงกว่าแต่ก่อนมากๆ เครือข่ายสังคมทำให้เรามีโอกาสรู้จักคนอื่นๆ ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือ ทำให้เราสามารถตามหาเพื่อนเก่า หรือเก็บความเป็นเพื่อนเอาไว้ได้นานแสนนาน ซึ่งคนในยุคที่ผ่านมาอาจจะทำไม่ได้เลย
ประเด็นที่ [เสด-ถะ-สาด].com คิดว่าน่าสนใจก็คือ อย่างน้อยที่สุดในประเทศไทย น่าจะมีงานวิจัยสักชิ้นที่ทำการส่งโปสต์การ์ดจากคนหนึ่งไปหาคนที่ระบุไว้ แบบที่ Six degree of separation เคยทำ ถ้ามีข้อกำหนดว่าห้ามเปิดหาข้อมูลเพื่อนจาก facebook ระยะห่างมันอาจจะไกลกว่าที่คิดไว้ก็ได้ หรือหากยอมให้เปิดดูข้อมูลได้ ระยะเวลาของการส่งโปสต์การ์ดใบนี้อาจจะนานแสนนานก็ได้ ซึ่งเราไม่รู้คำตอบว่าระยะห่างหรือระยะเวลามันจะเป็นเท่าไหร่กัน ไม่แน่ว่าผลการทดลองอาจจะบอกเราว่า เครือข่ายสังคมทำให้เราสื่อสารกันง่ายขึ้น แต่ตัวตนของเรามันกลับห่างกันไปไกลเหลือเกิน…ก็เป็นได้
[เสด-ถะ-สาด].com ขอขอบคุณ อ.นันทนุช อุดมละมุล ผู้ซึ่งเป็นคนแรกที่อธิบาย Six degree of separation ให้ผู้เขียนได้ฟังอย่างน่าสนใจ
ที่มา: Facebook Data Team (2011), “Anatomy of Facebook” online at http://www.facebook.com/notes/facebook-data-team/anatomy-of-facebook/10150388519243859.
featured image from danpontefract.com