death

“ก่อนตาย”…เราเห็นอะไร?

คำพูดสุดท้ายของ Steve Jobs ก่อนที่เขาจะหมดลมหายใจก็คือ “Oh wow. Oh wow. Oh wow.” เขาเห็นอะไรจึงอุทานออกมาเช่นนั้น และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ [เสด-ถะ-สาด].com สนใจ “ประสบการณ์เฉียดตาย” (Near Death Experiences) ว่า คนเราเห็นอะไรกันก่อนจะตาย?

……….


สืบเนื่องจากหนังสืออัตชีวประวัติของ Steve Jobs ที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งโลกในตอนนี้ ที่ระบุเอาไว้ว่า คำพูดสุดท้ายของ Jobs ก่อนที่เขาจะหมดลมหายใจก็คือคำว่า “Oh wow. Oh wow. Oh wow.” และจากนั้นเขาก็ลาโลกไป

ความน่าสนใจก็คือ Jobs เห็นอะไรจึงอุทานเช่นนั้นออกมา แน่นอนว่าไม่ได้ง่ายที่จะรู้ได้ว่า จริงๆ แล้ว เขาเห็นอะไร แต่ [เสด-ถะ-สาด].com ขอนำเสนองานวิจัยที่อาจะเทียบเคียงกันได้ นั่นคือ งานวิจัยเกี่ยวกับ “ประสบการณ์เฉียดตาย” (Near Death Experiences: NDE)

นิยามของคำว่า “ประสบการณ์เฉียดตาย” หมายถึง”ภาพสุดท้ายที่คนเราเห็นก่อนตาย”นั้น Lommel, Wees, Meyers and Elfferich (2001) ได้ทำการศึกษาว่า คนที่เคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้ว เขาเห็นอะไรกัน?

พวกเขาทำการสำรวจและสอบถามคนที่เคยประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) แต่กลับฟื้นขึ้นมาโดยการปั๊มหัวใจ จำนวน 344 คน จากโรงพยาบาล 10 แห่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกระบวนการวิจัยทั้งหมดได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการกำกับจริยธรรม จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิ [ที่จริงผู้วิจัยได้รวบรวมรายชื่อคนที่เคยฟื้นขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อจะไปสัมภาษณ์ แต่คนส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว]

……….

ผลการศึกษา พบว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีประสบการณ์เฉียดตาย โดยคนที่จะมีประสบการณ์นี้มีเพียง 62 คนจาก 344 คน หรือคิดเป็น 18% เท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการปั๊มหัวใจได้ไปส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของสมอง จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งจำไม่ได้ว่าเห็นอะไรบ้าง หรือก็อาจเป็นพวกเขาไม่เห็นอะไรเลยก็เป็นได้ [อันนี้ไม่สามารถพิสูจน์นะครับ]

62 คนจาก 344 คนที่มีประสบการณ์เฉียดตาย ตอบคำถามถึงภาพที่เขาเห็นดังภาพด้านล่าง ตัวเลขที่แสดงคิดเป็นร้อยละต่อจำนวนคนที่เห็นทั้งหมด ทั้งนี้ คนๆ หนึ่งสามารถเห็นพร้อมกันมากกว่าหนึ่งกรณีก็ได้ เช่น บางคนอาจจะมีประสบการณ์คุยกับคนที่ตายไปแล้วในทุ่งหญ้าที่สวยงามอย่างอารมณ์แจ่มใสมากๆ เป็นต้น

“ภาพที่ ๑ ประเภทและความถี่ของประสบการณ์เฉียดตาย (ภาพจากบทความ)”


งานวิจัยยังทำการทดสอบต่อไปในสองประเด็นด้วยว่า ปัจจัยทางด้านกายภาพ วิธีการรักษา การให้ยา และจิตวิทยา มีผลต่อการมีหรือไม่มี และมีผลต่อความชัดเจนของประสบการณ์เฉียดตายหรือไม่

ผลการทดสอบค่าสถิติไคสแควร์ (Chi-square) ในตารางที่ ๑ พบว่ามีบางปัจจัยที่มีผลต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่ไม่พบปัจจัยที่มีผลสอดคล้องกันในทั้งสองประเด็น ยกเว้นเพียงส่วนมากจะเสียชีวิตภายใน 30 วัน ข้อสรุปต่อประเด็นนี้ก็คือ ปัจจัยต่างๆ ในโลกความเป็นจริง ไม่มีความชัดเจนมากนักต่อการมีหรือไม่มีประสบการณ์เฉียดตาย และก็ไม่ชัดเจนมากนักต่อความชัดของประสบการณ์ด้วยเช่นกัน นั่นคือประสบการณ์เฉียดตายที่เรารับรู้นั้นเป็นปรากฎการณ์สุ่ม (Random Process)

“ตารางที่ ๑ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการมี/ไม่มี และความชัดของประสบการณ์เฉียดตาย (ตารางจากบทความ)”


นอกจากนี้ งานวิจัยทำการศึกษาด้วยว่า การมีประสบการณ์เฉียดตายทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ผ่านความตายมา แต่ไม่มีประสบการณ์เฉียดตาย และพบว่า คนที่มีประสบการณ์เฉียดตายนั้น มีความชัดเจนมากว่า พวกเขามีทัศนคติทางสังคมเป็นไปในทิศทางเพื่อคนอื่นมากกว่า มีทัศนคติทางศาสนาเป็นไปเพื่อเรียนรู้ชีวิตมากกว่า กลัวความตายน้อยกว่า และให้ความสนใจกับการหาความหมายของชีวิตมากกว่าด้วย ดังรายละเอียดในตารางที่ ๒

“ตารางที่ ๒ ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังประสบการณ์เฉียดความตาย ในช่วง 2 และ 8 ปี (ตารางจากบทความ)”


ข้อคิดที่น่าสนใจจากงานชิ้นนี้ก็คือ เราได้เรียนรู้หรืออย่างน้อยก็คงทำให้เรานึกถึงเรื่องความตาย ว่าแท้จริงแล้วมันอยู่ใกล้ตัวเรา แต่เรากลับรู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยมาก ทางที่ดีที่สุดสำหรับเราทุกคนก็คือ เราน่าจะใช้ชีวิตทุกวันให้ได้ดีเหมือนกับคนที่เคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้ว สังคมก็คงน่าอยู่มากขึ้น และการที่ตัวเราเองไม่ยึดติดกับสิ่งใดใดก็คงจะได้พบกับความสุขที่แท้จริงด้วย

……….

[เสด-ถะ-สาด].com ขอเสนอว่า น่าจะมีงานวิจัยในทำนองเดียวกันนี้กับกรณีของประเทศไทยบ้าง [ถ้าใครทราบว่ามีอยู่แล้ว ก็บอกกล่าวมาได้นะครับ] เพราะวิธีการศึกษาไม่ซับซ้อน และผลการศึกษาก็มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นว่า หากเป็นสังคมเมืองพุทธ ภาพจากประสบการณ์เฉียดตายจะเหมือนหรือต่างกันกับสังคมคริสต์อย่างไร ซึ่งหากมีความต่างกัน ย่อมหมายความว่า ภาพสุดท้ายที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วมาจากจินตนาการของแต่ละคนเอง อาจจะไม่เกี่ยวกับการมีอยู่ของชีวิตหลังความตาย แต่หากมีความเหมือนกัน สวรรค์ของคนทั้งโลกคงไม่แตกต่าง และชีวิตหลังความตายอาจจะมีจริงก็เป็นได้

สำหรับคนที่เพิ่งเสียคนที่รักไป [เสด-ถะ-สาด].com ก็ขอเป็นกำลังใจให้ ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อย่าลืมทำความดีก่อนที่จะไม่มีโอกาสนะครับ ^^






ที่มา:
Dr Pirn van Lommel MD, Ruud van Wees PhD, Vincent Meyers PhD, Ingrid Elfferich PhD (2001) Near-death experience in survivors of cardiac arrest: a prospective study in the Netherlands, The Lancet – 15 December 2001 (Vol. 358, Issue 9298, Pages 2039-2045).
Sam Jones (2011) Steve Jobs’s last words: ‘Oh wow. Oh wow. Oh wow’, online at http://www.guardian.co.uk/technology/2011/oct/31/steve-jobs-last-words.
S. Parnia, K. Spearpoint, P. B. Fenwick (2007) Near death experiences, cognitive function and psychological outcomes of surviving cardiac arrest, Resuscitation, Vol. 74, No. 2. (August 2007), pp. 215-221.

featured image from here

  • App

    ขอบคุณครับ สำหรับบทความที่น่าสนใจ

  • BAGGIOth

    ผนเห็นอดีตที่ผ่านมา พ่อ แม่ เพื่อน คนที่เรารักเหตุที่น่าจดจำ

  • http://www.123microcontroller.com 123microcontroller

    เคยคิดว่า ตัวเองป่วย และ จะต้องตาย แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ตาย ผมค่อนข้างเห็นด้วยอย่างยิ่่ง กับ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และทัศนคติทางสังคม ของคนที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้ว ครับ

    • http://setthasat.wordpress.com [เสด-ถะ-สาด].com

      ขอบคุณที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ครับ ^^

  • http://www.123microcontroller.com 123microcontroller

    เคยคิดว่า ตัวเองป่วย และ จะต้องตาย แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ตาย ผมค่อนข้างเห็นด้วยอย่างยิ่่ง กับ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และทัศนคติทางสังคม ของคนที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้ว ครับ

    • http://setthasat.wordpress.com [เสด-ถะ-สาด].com

      ขอบคุณที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ครับ ^^

  • Pingback: คนเรารู้สึก“เสียใจ”กับเรื่องอะไรบ้าง ก่อนเสียชีวิต? | [เสด-ถะ-สาด].com

  • ZezasVialpando Ván

    ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ มัน้เป็นเรื่องจริงครับสำหรับคนที่เกิดขึ้น….เช่นตัวผมเอง