aercover_Snapseed

“100 ปี American Economic Review” กับ 20 บทความที่ดีที่สุด!!!

เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีของวารสารวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของโลก American Economic Review จึงได้มีการนำเสนอถึง 20 บทความที่ดีที่สุดจากบทความจำนวนมากที่เคยถูกตีพิมพ์ ต่อไปนี้คือรายชื่อและ link สำหรับการดาวน์โหลดบทความทั้งหมด

……….


ารสารวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ชื่อ American Economic Review เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1911 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นวารสารทางวิชาการทีมีพลัง (Impact) มากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก

เนื่องจากปีนี้เป็นปี 2011 วารสารฉบับนี้มีวาระครบรอบ 100 ปี ทางคณะกรรมการของวารสาร ซึ่งประกอบด้วย Kenneth J. Arrow, B. Douglas Bernheim, Martin S. Feldstein, Daniel L. McFadden, James M. Poterba, และ Robert M. Solow จึงได้ทำการคัดเลือก 20 บทความที่ดีที่สุดจากบทความจำนวนมากที่เคยถูกตีพิมพ์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกบทความจะเน้นไปที่คุณภาพของวิชาการ อิทธิพลทางความคิดและการถูกนำไปใช้ต่อโดยนักเศรษฐศาสตร์ และนัยสำคัญโดยทั่วไปหรือความกว้างของผลการศึกษา

กระบวนการพิจารณาเริ่มจากจำนวนครั้งที่ถูกอ้างถึงในบทความอื่น และจำนวนการค้นหาใน JSTOR แต่ไม่ใช่เพียงเท่านี้ เพราะอาจทำให้มีความลำเอียงไปยังสาขาที่มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก และลำเอียงไปยังบทความที่ตีพิมพ์มานานกว่า [เพราะการอ้างอิงบทความต้องใช้เวลาในการสะสมจำนวน] คณะกรรมการจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพของงานด้วย โดยใช้การลงมติ ซึ่ง 15 บทความที่ถูกคัดเลือก คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ และอีก 5 บทความไม่เป็นเอกฉันท์

……….

นี่คือรายชื่อ พร้อมทั้ง link ให้ดาวน์โหลด 20 บทความ เรียงตามลำดับตัวอักษร[1]

  1. Alchian, Armen A., and Harold Demsetz. 1972. “Production, Information Costs, and Economic Organization.” American Economic Review, 62(5): 777–95.

    บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าหน่วยธุรกิจ (Firm) มีหน้าที่ในการนำเอาปัจจัยการผลิตมาเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ “กำไร” จึงเป็นผลตอบแทนของความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการผลิต และกำไรนี่เองที่เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ดังนั้น ในอีกด้านหนึ่งของการแสวงหากำไรที่สูงขึ้นของบริษัท ก็คือการจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของสังคม

  2. Arrow, Kenneth J. 1963. “Uncertainty and the Welfare Economics of Medical Care.” American Economic Review, 53(5): 941–73.

    บทความนี้นำเสนอกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการรักษาพยาบาล (Medical Care) ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จุลภาค ตลาดของบริการประเภทนี้มีความล้มเหลว เพราะผู้บริโภคต้องเผชิญความเสี่ยง และจะไม่สามารถได้รับการรับประกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งพวกเขาขาดข้อมูลที่เพียงพอและไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะเข้าใจเรื่องสุขภาพตัวเองได้ดี ระบบตลาดเอกชน (Private Market) จึงไม่มีประสิทธิภาพในการให้บริการรักษาพยาบาล และรัฐควรเข้ามาดำเนินการเพื่อทำให้สวัสดิการสังคมดีขึ้น

  3. Cobb, Charles W., and Paul H. Douglas. 1928. “A Theory of Production.” American Economic Review, 18(1): 139–65.

    บทความนี้เป็นที่มาของฟังก์ชันการผลิตที่มีชื่อว่า Cobb-Douglas ซึ่งไม่น่าจะมีนักเศรษฐศาสตร์คนไหนไม่เคยได้ยินชื่อนี้

  4. Deaton, Angus S., and John Muellbauer. 1980. “An Almost Ideal Demand System.” American Economic Review, 70(3): 312–26.

    บทความนี้เป็นจุดเริ่มต้นของระบบสมการที่ใช้วิเคราะห์สินค้าเพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่สามารถนำไปเชื่อมโยงผลกระทบของการบริโภคต่อไปยังนโยบายภาครัฐและเอกชนที่ทำให้ดุลยภาพเปลี่ยนไป จึงนำไปสู่การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสวัสดิการสังคมได้ โดยมากการวิเคราะห์แบบนี้มักใช้กับสินค้าที่ได้รับผลจากนโยบายรัฐ เช่น น้ำมัน บุหรี่ สุรา เป็นต้น

  5. Diamond, Peter A. 1965. “National Debt in a Neoclassical Growth Model.” American Economic Review, 55(5): 1126–50.

    บทความนี้ใช้ Overlapping Generation Model (OLG) เพื่อชี้ว่าหนี้ภายในและหนี้ภายนอก (Internal and External Debt) ที่รัฐบาลก่อในการดำเนินนโยบายสาธารณะในวันนี้ สามารถส่งผลกระทบต่อทุนคงค้าง (Capital Stock) ของประเทศได้ในอนาคตผ่านการเลื่อนหนี้สินไปยังคนในรุ่นต่อๆ ไป

  6. Diamond, Peter A., and James A. Mirrlees. 1971. “Optimal Taxation and Public Production I: Production Efficiency.” American Economic Review, 61(1): 8–27. และ Diamond, Peter A., and James A. Mirrlees. 1971. “Optimal Taxation and Public Production II: Tax Rules.” American Economic Review, 61(3): 261–78.

    บทความนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการโต้แย้งความเชื่อที่ว่า ภาษีก่อให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพของระบบตลาด โดยแสดงให้เห็นว่า ภาษีที่เหมาะสม (Optimal Tax) กลับสามารถแก้ปัญหาความล้มเหลวหรือความไม่มีประสิทธิภาพของระบบตลาดได้ เพียงแต่ต้องมีการออกแบบที่เหมาะสม และต้องเป็นภาระภาษีที่น้อยที่สุด

  7. Dixit, Avinash K., and Joseph E. Stiglitz. 1977. “Monopolistic Competition and Optimum Product Diversity.” American Economic Review, 67(3): 297–308.

    บทความนี้กล่าวว่าในตลาดผู้แข่งขันน้อยราย (Monopolistic Competition) ที่ผลิตสินค้าไม่เหมือนกัน (Differentiated Goods) และมีผลตอบแทนต่อการผลิตเพิ่มขึ้น (Increasing Return to Scale) ผลก็คือสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอาจจะมีจำนวนมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ได้ โดยการตัดสินใจผลิตต้องคำนึงถึงทั้งปริมาณและความแตกต่าง ดังนั้น ในการวิเคราะห์ดุลภาพทั่วไป ต้องพิจารณาถึงประเด็นความแตกต่างของสินค้าด้วย ไม่ใช่แค่ปริมาณเท่านั้น

  8. Friedman, Milton. 1968. “The Role of Monetary Policy.” American Economic Review, 58(1): 1–17.

    บทความนี้กล่าวว่าในระยะยาวแล้ว เส้นโค้ง Philips (Long-run Philips Curve) จะเป็นเส้นตั้งฉาก โดยระบบเศรษฐกิจจะมีอัตราการว่างงานทั่วไปตามธรรมชาติ (Natural Rate of Unemployment) ที่คงที่อยู่ค่าหนึ่ง ดังนั้น การได้อย่างเสียอย่าง (Trade-off) ระหว่างอัตราการว่างงาน กับอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

  9. Friedman, Milton. 1968. “Grossman, Sanford J., and Joseph E. Stiglitz. 1980. “On the Impossibility of Informationally Efficient Markets.” American Economic Review, 70(3): 393–408.

    บทความนี้ชี้ว่าข้อมูลข่าวสารในโลกความเป็นจริงมีต้นทุนในการแสวงหาและเข้าถึง ดังนั้น ใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ก็ย่อมไม่ต้องการที่จะให้ผูอื่นรู้ เพราะมันจะเป็นความได้เปรียบที่เขาถือครองอยู่

  10. Harris, John R., and Michael P. Todaro. 1970. “Migration, Unemployment and Development: A Two-Sector Analysis.” American Economic Review, 60(1): 126–42.

    บทความนี้ชี้ให้เห็นการที่บางคนยอมย้ายถิ่นจากภาคเกษตรในชนบทมาสู่การทำงานในเมือง ทั้งที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการว่างงาน แต่เป็นเพราะมีโอกาสที่จะได้ค่าจ้างที่สูงกว่า ดังนั้น ดุลยภาพของค่าจ้างและการจ้างงานจึงอยู่ที่ความน่าจะเป็นที่จะได้งานทำและค่าจ้างที่เขาจะได้รับด้วย รวมทั้งหากมีการบังคับกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอุตสาหกรรมมักอยู่ในเขตเมือง การว่างงานในเมืองก็จะเกิดขึ้นและคงอยู่ตลอดไป

  11. Hayek, F. A. 1945. “The Use of Knowledge in Society.” American Economic Review, 35(4): 519–30.

    บทความนี้ชี้ว่า ธรรมชาติของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็คือการแบ่งสรรของที่มีอยู่เพียงน้อยนิดไปให้ประชากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เราต้องรู้ว่าประชากรแต่ละคนให้คุณค่ากับอะไร ความสัมพันธ์ของการผลิตเป็นอย่างไร และทรัพยากรที่จะแบ่งมีอะไรบ้าง โดยกลไกราคา (Price Mechanism) จะเข้ามาช่วยตอบคำถามเหล่านี้ และทำมห้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพ

  12. Jorgenson, Dale W. 1963. “Capital Theory and Investment Behavior.” American Economic Review, 53(2): 247–59.

    บทความนี้ระบุว่าพฤติกรรมของนักลงทุนจะอยู่บนพื้นฐานของการสะสมทุนที่ดีที่สุด (Optimal Capital Accumulation) โดยบทความได้ชี้ประเด็นเรื่องของต้นทุนทุนของผู้ใช้ (User Cost of Capital) ที่ประกอบด้วยต้นทุนทางการเงินและภาษี ในการเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ

  13. Krueger, Anne O. 1974. “The Political Economy of the Rent-Seeking Society.” American Economic Review, 64(3): 291–303.

    บทความเกี่ยวกับการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลมักใช้นโยบายเพื่อจำกัดสินค้าบางประเภทให้มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าบางอย่าง จนส่งผลให้ราคาสินค้านั้นๆ เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง ผู้ประกอบการจำนวนมากจะยอมทุ่มเททรัพยากรเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายดังกล่าว ทั้งผ่านการประมูลในตลาดและการจ่ายเงินคอรัปชั่น

  14. Krugman, Paul. 1980. “Scale Economies, Product Differentiation, and the Pattern of Trade.” American Economic Review, 70(5): 950–59.

    บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่บางประเทศมีมูลค่าการค้ามหาศาลในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนละสินค้า ก็เพราะสินค้าที่ทำการค้ากันมีความแตกต่างและหลากหลาย รวมทั้งหากกระบวนการผลิตเป็นการผลิตแบบผลต่อแทนต่อขนาดสูงขึ้น การผลิตจึงเกิดขึ้นในบางประเทศที่มีความสามารถเฉพาะ (Specialization) แล้วทำการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ จะดีกว่าผลิตแบบกระจายพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการแลกเปลี่ยนสินค้าในอุตสาหกรรมเดียวกัน

  15. Kuznets, Simon. 1955. “Economic Growth and Income Inequality.” American Economic Review, 45(1): 1–28.

    บทความนี้ชี้ว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจช่วงแรกนั้นมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เพราะภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่จะมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วกว่าภาคเกษตรดั้งเดิม แต่หากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว ความเหลื่อมล้ำจะค่อยๆ ลดลง เพราะภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่จะเป็นตัวนำการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ ให้ดีขึ้นตามมา

  16. Lucas, Robert E., Jr. 1973. “Some International Evidence on Output-Inflation Tradeoffs.” American Economic Review, 63(3): 326–34.

    บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลในตลาดรับรู้การเปลี่ยนแปลงราคาเพียงแค่ในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ไม่สามารถรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงราคาโดยทั่วไป เพียงแต่สามารถเรียนรู้จากสถิติที่ผ่านมาในอดีตได้ การเปลี่ยนแปลงผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์รวมจึงขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงราคาทั้งสองประเภทที่กล่าวมา

  17. Modigliani, Franco, and Merton H. Miller. 1958. “The Cost of Capital, Corporation Finance and the Theory of Investment.” American Economic Review, 48(3): 261–97.

    บทความนี้ตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับการตัดสินใจของภาคธุรกิจในการเลือกที่จะก่อหนี้หรือเพิ่มทุนจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของทุน (Cost of Capital) และพฤติกรรมการลงทุน (Investment Behavior) รวมทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของงานจำนวนมากทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน

  18. Mundell, Robert A. 1961. “A Theory of Optimum Currency Areas.” American Economic Review, 51(4): 657–65.

    บทความนี้อธิบายถึงการเลือกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์สำหรับการใช้เงินตราสกุลร่วมว่า โดยความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคจะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับการเคลื่อนย้ายภายในสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับระดับการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน นอกจากนี้ จำนวนประเทศที่มารวมกลุ่มยิ่งมากก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมภายในกลุ่มลดลงด้วย

  19. Ross, Stephen A. 1973. “The Economic Theory of Agency: The Principal’s Problem.” American Economic Review, 63(2): 134–39.

    บทความนี้ชี้ประเด็นเรื่องปัญหาเจ้าของ-ตัวแทน (Principal-Agent Problem) และความบกพร่องทางศีลธรรม (Moral Hazard) ซึ่งตัวแทนอาจจะมีฟังก์ชันความพอใจที่ไม่ได้เหมือนกับผลประโยชน์ที่แท้จริงของเจ้าของ และมีแนวโน้มที่จะทำเพื่อความพอใจของตนเองมากกว่า

  20. Shiller, Robert J. 1981. “Do Stock Prices Move Too Much to Be Justified by Subsequent Changes in Dividends?” American Economic Review, 71(3): 421–36.

    บทความนี้เริ่มต้นมาจากแนวคิดที่ว่า มูลค่าของหุ้นควรจะเท่ากับราคาปัจจุบันของหุ้นนั้นๆ ที่คาดการณ์ไว้ในอนาคต แต่การทดสอบด้วยข้อมูลในอดีตของสหรัฐอเมริกา ระหว่างความแปรปรวนของราคาหุ้นกับอัตราการจ่ายเงินปันผล กลับพบว่า แท้จริงแล้ว มันไม่ได้มีค่าเท่ากัน และความผันผวนของราคาหุ้นนั้นสูงกว่าความผันผวนของเงินปันผลเป็นอย่างมาก

สำหรับบทสรุปของแต่ละบทความที่ต่อท้ายชื่อบทความนั้น [เสด-ถะ-สาด].com สรุปจากบทความเรื่อง 100 Years of the American Economic Review: The Top 20 Articles โดยไม่ได้สรุปมาจากบทความต้นฉบับ รวมทั้ง ผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทุกสาขาของเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น หากมีความผิดพลาดหรือไม่ชัดเจนประการใด สามารถเสนอหรือแนะนำได้ที่ช่องความเห็นด้านล่างนะครับ






อ้างอิง
[1] links ทั้งหมดที่นำมาเผยแพร่ เป็น links ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ซึ่งทำการเผยแพร่โดยวารสาร American Economic Review โดยตรง

ที่มา: Kenneth J. Arrow & B. Douglas Bernheim & Martin S. Feldstein & Daniel L. McFadden & James M. Poterba & Robert M. Solow, 2011. “100 Years of the American Economic Review: The Top 20 Articles,”, American Economic Association, vol. 101(1), pages 1-8, February.

featured image from nancynixrice.com

  • http://gravatar.com/chsanti chsantii

    Thank you krub. Very DELICIOUS articles

  • http://gravatar.com/birdmmm เบิร์ด

    ขอบคณครับ มีข้อมูลดีๆมาฝากกัน

    เสียดายตัวผมไม่สามารถอ่านบทความภาษาอังกฤษได้ เสียดายจริงๆ ผมว่าบทความยอดเยี่ยมในรอบร้อยปีนี้ น่าสนใจมาก:)

  • http://gravatar.com/birdmmm เบิร์ด

    ขอบคณครับ มีข้อมูลดีๆมาฝากกัน

    เสียดายตัวผมไม่สามารถอ่านบทความภาษาอังกฤษได้ เสียดายจริงๆ ผมว่าบทความยอดเยี่ยมในรอบร้อยปีนี้ น่าสนใจมาก:)