“เวลาปวดฉี่สุดๆ” การรับรู้ของเราเปลี่ยนไปอย่างไร?
เมื่อไม่นานมานี้มีการมอบรางวัล ig-Nobel ให้กับหัวข้อตามชื่อเรื่องของบทความชิ้นนี้ และเนื่องจากหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก [เสด-ถะ-สาด].com ขอนำมาสรุปให้ได้อ่านกันว่า เวลาที่เราปวดฉี่สุดๆ มันกระทบอย่างไรกับกระบวนการรับรู้ของเรา
……….
บทความนี้เป็นหนึ่งในบทความที่ได้รับรางวัล ig-nobel ซึ่งเลียนแบบมาจากรางวัลโนเบล แต่จะมอบให้กับบทความวิชาการที่มีเนื้อหาน่าสนใจ [โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการต่อยอดองค์ความรู้เหมือนรางวัลโนเบลจริงๆ] ที่ว่า “เวลาที่เราต้องอั้นฉี่ มันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการรับรู้ของเราหรือไม่” [1]
การศึกษาทำการทดลองโดยให้คนวัยผู้ใหญ่จำนวน 8 คน อายุ 23-45 ปี เป็นชาย 6 คนและหญิง 2 คน ทำการดื่มน้ำ 250 มิลลิลิตร (1 ใน 4 ลิตร) ทุกๆ 15 นาทีไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาทนไม่ไหวต้องไปเข้าห้องน้ำ
ในระหว่างนั้น นักวิจัยจะวัดความรู้สึกของการปวดฉี่โดยการถามคำถามที่ว่า “คุณจำเป็นแค่ไหนในการไปฉี่ตอนนี้?” และ “คุณรู้สึกปวดฉี่แค่ไหนในตอนนี้?” แล้วให้เขาให้คะแนนด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งกระบวนการวัดแบบนี้เรียกว่า Visual Analogue Scale (VAS) [2]
รูปด้านล่างแสดงค่าเฉลี่ยของคะแนนความจำเป็น (รูปเพชร) และความรู้สึกปวด (วงกลม) ทุกๆ 15 นาที ตั้งแต่เริ่มรู้สึกปวด ปวดมากขึ้นครั้งแรก ปวดมาก ปวดสุดๆ จนถึงไปฉี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ช่วงเวลาของความรู้สึกปวดฉี่ (ภาพจากบทความ)”
……….
ขณะที่กระบวนการวัดประสิทธิภาพของการตัดสินใจจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองเริ่มรู้สึกปวดฉี่ โดยให้ทำแบบทดสอบง่ายๆ ด้วยการตอบคำถามว่าใช่หรือไม่ใช่ไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะทนไม่ไหว และไปฉี่เป็นที่เรียบร้อย
การทดลองที่ว่า จะทำการทดสอบในคอมพิวเตอร์ด้วยการให้ดูไพ่ ซึ่งคว่ำหน้าไว้ในตอนแรก แล้วหงายหน้าออกมา จากนั้นให้ผุ้เข้าร่วมการทดลองตอบคำถาม โดยจำแนกคำถามออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- Detection (การตรวจพบ) ไพ่จะหงายหน้าขึ้นมา แล้วมีเวลา 2.5-3.5 วินาทีให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกดปุ่มในแป้นพิมพ์ให้ถูกต้อง การกระทำจะทำซ้ำๆ กัน 70 ครั้ง
- Identification (การระบุ) ไพ่จะหงายหน้าขึ้นมา แล้วผู้เข้าร่วมการทดลองต้องตอบคำถาม เช่น ไพ่ที่หงายขึ้นมามีสีแดงใช่หรือไม่ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถูก 30 ครั้ง
- One Back (การจำได้) ไพ่จะหงายหน้าขึ้นมา แล้วผู้เข้าร่วมการทดลองต้องตอบคำถามว่า ไพ่ที่หงายขึ้นมาเหมือนกับไพ่ใบก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถูก 30 ครั้ง
โดยการทดลองจะทำการวัดประสิทธิภาพทั้งความถูกต้อง (Accuracy) และความเร็ว (Speed) ในการตอบคำถาม
ผลการทดลองสามารถแสดงให้เห็นตามตาราง ซึ่งจะเรียงลำดับแนวตั้งจากช่วงเวลาที่ปวดฉี่น้อยไปจนถึงปวดฉี่มาก และช่องสุดท้ายคือฉี่เสร็จแล้ว
ระยะเวลาเฉลี่ยที่จะทนได้จนกระทั่งไปฉี่คือประมาณ 140 นาที และกินน้ำไป 2.2 ลิตร
……….
ในส่วนของการตรวจพบ (Detection) ความเร็วเฉลี่ยช้าลงจาก 2.40 เป็น 2.50 วินาที และกลับมาใกล้เคียงตอนเริ่มต้นคือ 2.41 วินาทีหลังการฉี่ รวมทั้งความถูกต้องลดลงจาก 97-100 เป็น 93-100 และกลับมาเป็น 97-100 เช่นเดิมหลังการฉี่
ขณะที่การระบุ (Identification) ความเร็วลดลงจาก 2.62 เป็น 2.66 วินาที แต่ความถูกต้องแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ภายหลังการฉี่แล้ว ดีขึ้นทั้งความเร็วและความถูกต้อง
สุดท้ายเรื่องของ One Back (การจำได้) ที่ความเร็วลดลงเช่นกันจาก 2.74 เป็น 2.81 วินาที แต่ความถูกต้องแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ภายหลังการฉี่แล้ว ดีขึ้นทั้งความเร็วและความถูกต้อง
“ผลการทดลอง (ภาพจากบทความ)”
……….
กล่าวโดยสรุปก็คือ ผลการทดลองเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อเวลาที่เราปวดฉี่มากขึ้นๆ มันจะมีผลกระทบทางลบชั่วคราวต่อกระบวนการรับรู้ของเรา โดยเฉพาะการทำงานที่ช้าลง แต่โอกาสผิดพลาดที่มากขึ้นนั้นยังไม่มากนัก ผลการศึกษาค่อนข้างสอดคล้องกันทั้งความสามารถในการตรวจพบ การระบุ และการจดจำ ซึ่งสุดท้าย ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังการฉี่
ดังนั้น หากเพื่อนๆ ต้องตัดสินใจเรื่องอะไรก็ตาม อย่าตัดสินใจอะไรตอนที่กำลังปวดฉี่ โดยเฉพาะปวดสุดๆ อยู่นะครับ เพราะอาจจะไม่มีประสิทธิภาพได้ หรือไม่ก็หากต้องไปเลือกตั้ง อย่าลืมฉี่ไปก่อนนะครับ จะได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง
อ้างอิง
[1] คำว่า void อาจเป็นได้ทั้งปวดฉี่หรือปวดอึ แต่ในที่นี้ เน้นการให้กินน้ำเป็นหลัก จึงน่าจะมุ่งไปที่การปวดฉี่มากกว่า บทความจึงขอใช้คำเดียวว่าปวดฉี่
[2] ที่จริงแล้ว แต่ละคนจะให้คะแนนด้วยตัวเลขเท่าไหร่นั้น ไม่สำคัญ เพียงแต่ว่ามันควรเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และนักวิจัยจะใช้ค่าอัตราการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มาวิเคราะห์
ที่มา:
๑) ประกาศผลรางวัล ig-Nobel ออนไลน์ที่ http://improbable.com/ig/ig-pastwinners.html#ig2011
๒) Lewis, M., Snyder, P., Pietrzak, R., Darby, D., Feldman, R. and Maruff, P. (2011), The effect of acute increase in urge to void on cognitive function in healthy adults. Neurourology and Urodynamics, 30: 183–187.
featured image from here