“เสน่หา” มีผลต่อรายได้แค่ไหนกัน? (ตอนที่ ๑ – คนสวย/หล่อ)
“เสน่หา” เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของคนส่วนใหญ่ เพราะจะทำให้เราเป็นที่สนใจ ในบทความนี้เกี่ยวข้องกับ “ความสวย/หล่อ” ว่ามันมีข้อดีกับชีวิตเราจริงๆ จนควรให้ความสำคัญกับมัน หรือไม่ต้องไปสนใจเลยจะดีกว่า บทความวิชาการใน AER มีคำตอบให้เรา
……….
He [Aristotle] used to say that personal beauty was a better introduction than any letter.
เขา [อริสโตเติล] เคยพูดไว้ว่า ความงามของตัวเราเองคือการแนะนำตัวที่ดีกว่าจดหมายอ้างอิงใดใด
– Diogenes Laertius, The Lives and Opinions of the Eminant Philosophers
คำกล่าวของอริสโตเติลไม่ได้ผิด แม้กระทั่งในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเสน่หาในเชิงของความงาม หรือความสวย/หล่อ ถือเป็นทุนทางกายภาพ (Physical Capital) ประเภทหนึ่งที่ติดตัวแรงงาน (Labour) ไปอยู่ในตลาดแรงงาน (Labour Market) ด้วยเสมอ
“Girls Generation (by PiYe – @flickr)”
……….
บทความของ Hamermesh and Biddle (AER 1994)[1] ทำการประเมินผลกระทบของความสวย/หล่อที่มีต่อรายได้ที่แรงงานได้รับในตลาดแรงงาน
ก่อนอื่น พวกเขาเข้าใจดีว่า ความรู้สึกว่าสวย/หล่อเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล (Beauty is in the eye of the beholder.) แต่ความสวย/หล่อในกรณีนี้ถูกประเมินจากผู้สัมภาษณ์งาน เพราะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดค่าจ้าง [ที่จริงแล้ว คงคล้ายๆ ว่าเป็น "ความดูดี" มากกว่า]
ตารางที่ ๑ นำเสนอข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา (QES) และ แคนาดา (QAL) จำนวนเกือบ 10,000 คน ที่ถูกประเมินความสวย/หล่อเป็นสเกลจาก 1 (สวย/หล่อ) ถึง 5 (แย่) แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 60 อยู่ในเกณฑ์ความสวย/หล่อธรรมดา กว่าร้อยละ 30 อยู่ในเกณฑ์ดูดี และเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น ที่จัดอยู่ในเกณฑ์สวย/หล่อ
“ตารางที่ ๑ กลุ่มตัวอย่าง จำแนกตามระดับความสวย/หล่อ (จากบทความ)”
แบบจำลองได้ควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่สำคัญเอาไว้แล้ว ได้แก่ ประสบการณ์ สุขภาพ เชื้อชาติ สถานภาพ ศาสนา ระดับการศึกษา ขนาดของเมืองที่ทำงานอยู่ ภูมิลำเนา การย้ายถิ่น อาชีพของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และประเภทของธุรกิจที่ทำอยู่
ตารางที่ ๒ แสดงผลของสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปัจจัยอื่นๆ ที่เหมือนกัน ความสวย/หล่อจะมีผลทำให้รายได้สูงกว่าที่ควรจะเป็น ประมาณ 3-4% สำหรับผู้หญิง และ 1-2% สำหรับผู้ชาย แต่ที่น่าสนใจคือ หน้าตาที่ดูแย่จะมีผลค่อนข้างมากให้รายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึงประมาณ 10-12% สำหรับผู้หญิง และ 16% สำหรับผู้ชายเลยทีเดียว ขณะที่คนตัวสูงจะมีรายได้สูงกว่าคนตัวเตี้ย ชายอ้วน[หุ่นอาเสี่ย]จะมีรายได้สูงกว่าที่ควรจะเป็น 12% แต่หญิงอ้วนจะมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 12% เช่นกัน ขณะที่ผลการศึกษากรณีของแคนาดาส่วนมากก็มีทิศทางไม่แตกต่างไปจากกรณีของสหรัฐอเมริกา
นัยยะนี้น่าจะคล้ายกับว่า บทลงโทษของการดูแย่ดูน่ากลัวกว่าผลตอบแทนของการดูดีมากเลยทีเดียว ขณะที่ความสวยของผู้หญิงให้ผลตอบแทนมากกว่าความหล่อของผู้ชาย และความไม่สวยของผู้หญิงก็บั่นทอนผลตอบแทนที่พึงได้รับน้อยกว่ากรณีของผู้ชายด้วย
“ตารางที่ ๒ สมการอธิบายความสวย/หล่อที่มีต่อรายได้ (จากบทความ)”
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความแตกต่างของรายได้ของคนที่มีหน้าตาดีกว่าค่าเฉลี่ย (Above Average) และแย่กว่าค่าเฉลี่ย (Below Average) เพื่อสรุปผลของความสวย/หล่อที่มีต่อรายได้ แยกระหว่างชายและหญิง จะแสดงได้ตามตารางที่ ๓
ข้อมูลรวมทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พบว่า ผู้ชายที่มีหน้าตาดีกว่าค่าเฉลี่ยจะมีรายได้สูงกว่าผู้ชายที่มีหน้าตาแย่กว่าค่าเฉลี่ย 14.4% ขณะที่ผู้หญิงที่มีหน้าตาดีกว่าค่าเฉลี่ยจะมีรายได้สูงกว่าผู้หญิงที่มีหน้าตาแย่กว่าค่าเฉลี่ย 9.2% เท่านั้น ความต่างระหว่างการดูดีและการดูแย่จึงมีผลมากกว่าสำหรับผู้ชาย
“ตารางที่ ๓ ความแตกต่างของรายได้สรุป (จากบทความ)”
……….
เหตุผลของการมีรายได้ที่สูงกว่า ส่วนหนึ่งมาจากคนสวย/หล่อมักได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงต่างๆ ได้รับโอกาสให้ไปติดต่อเจรจาธุรกิจ ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากสำนักงาน ขณะที่คนไม่สวยไม่หล่อมักถูกมองข้าม หรือกระทั่งถูกเลือกปฏิบัติ
คนสวย/หล่อจึงมักมีความสุขในการทำงานมากกว่า ได้รับเงินเดือนสูงกว่า ได้รับการอำนวยความสะดวกมากกว่า รวมไปถึงมีโอกาสได้แต่งงานกับคนที่มีสถานะที่ดี
ด้วยเหตุผลที่ว่ามา คนสวย/หล่อจึงมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัท หรือช่วยทำให้บริษัทขายสินค้าได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีคุณสมบัติอื่นๆ เหมือนกัน กำไรของบริษัทจึงได้มากกว่า และนี่เป็นเหตุผลบางส่วนที่เขาควรได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ในหนังสือเรื่อง Beauty Pays ของ Hamermesh (2011)[2] ยังบอกด้วยว่า คนสวย/หล่อมีโอกาสจะได้เงินมากกว่าคนที่ดูธรรมดาถึงประมาณ 7.25 ล้านบาทในหนึ่งชั่วชีวิต (230,000 เหรียญสรอ.) เลยทีเดียว [ที่จริงประเด็นนี้น่าจะเกี่ยวโยงกับการไปทำศัลยกรรมของคนจำนวนมากด้วย เพราะหากต้นทุนการทำศัลยกรรมมีค่าต่ำกว่าโอกาสที่จะได้รับในการมีรายได้ที่สูงขึ้น การทำศัลยกรรมก็ดูจะสมเหตุสมผล]
ผลการวิจัยของ Frieze, Olson and Russel (1991)[3] ที่ศึกษารายได้ของนักศึกษา MBA หลังจากจบไปแล้ว 10 ปี และความสวย/หล่อที่พิจารณาจากรูปภาพ ณ วันที่จบการศึกษา ยังเสริมด้วยว่า สำหรับผู้ชาย ความหล่อมีผลทั้งต่อเงินเดือนเริ่มต้นและอัตราการเติบโตของเงินเดือน ขณะที่ความสวยของผู้หญิง ไม่มีผลต่อเงินเดือนเริ่มต้น แต่มีผลอย่างมากต่ออัตราการเติบโตของเงินเดือน [อาจจะเป็นเพราะฝ่าย HR เป็นผู้หญิง แต่หัวหน้างานเป็นผู้ชายก็ได้นะครับ ^^ ]
……….
สุดท้ายแล้ว คงต้องย้ำกันอีกทีว่า ความสวย/หล่อในที่นี้ มีความหมายใกล้เคียงมากกับความดูดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสร้างได้ ไม่ได้หมายถึงแค่เฉพาะความสวย/หล่อที่ได้มาโดยธรรมชาติอย่างดาราเท่านั้น เมื่อรู้เช่นนี้ เรามาลุกขึ้นพัฒนาตนเอง การแต่งตัว และบุคลิกภาพกันดีกว่านะครับ จะได้เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิตเราด้วย โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ที่ยอมรับความแตกต่างได้มากมายเช่นทุกวันนี้ ^^
สำหรับตอนที่ ๒ จะเป็นเสน่หา ในมุมของนิสัยครับ เพื่อนๆ อาจจะเคยเจอกับคนที่แสนดี (Nice Guys) แล้วลองมาดูกันว่าความแสนดีจะมีผลต่อรายได้ของพวกเขาอย่างไร
อ้างอิง
[1] Hamermesh, Daniel S and Biddle, Jeff E, 1994. “Beauty and the Labor Market,” American Economic Review, American Economic Association, vol. 84(5), pages 1174-94, December.
[2] Hamermesh, Daniel S, 2011. “Beauty pays : why attractive people are more successful,” Princeton, NJ ; Oxford : Princeton University Press.
[3] Frieze, Irene Hanson, Josephine E. Olson, June Russell, 1991. “Attractiveness and Income for Men and Women in Management,” Journal of Applied Social Psychology, vol.21(13).
featured image from sovietrussia.org