”โทรแล้วขับ” กับ Mario Kart เพิ่มอุบัติเหตุเท่าไหร่กัน?
ผลของการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะวัดออกมา Gunter (2014) ทำการทดลองทางเศรษฐศาสตร์อย่างง่ายแต่น่าสนใจกับเกม Mario Kart เพื่อดูว่าผลดังกล่าวมีมากน้อยเพียงใดกัน
……….
โทรไม่ขับ เป็นแคมเปญรณรงค์การใช้รถบนท้องถนนอย่างรับผิดชอบกับผู้อื่นที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว อันที่จริง ช่วงหลังปัญหาเรื่องการโทรแล้วขับดูเหมือนจะลดลงอยู่บ้าง อาจเพราะความสำเร็จของการรณรงค์ที่ทำให้คนใช้รถใช้ถนนตระหนักถึงความเสียหายจากการโทรแล้วขับมากขึ้น และจากการพัฒนาเทคโนโลยี headset ประเภท bluetooth ที่คุณภาพดีขึ้นและราคาถูกลงค่อนข้างมาก ทำให้การพะวงกับการใช้โทรศัพท์ลดลง
แต่ปัญหาก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว เพราะการใช้โทรศัพท์แล้วขับที่รุนแรงกว่าการโทรกลับเป็นเรื่องของการพิมพ์ข้อความ (texting) โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าการโทรแล้วขับเสียอีก ทั้งการพิมพ์ใน facebook twitter instagram หรือแม้แต่การพิมพ์ SMS ทั่วไป เพราะการก้มลงพิมพ์ข้อความเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะอันตรายกว่าการคุยด้วยเสียงเสียอีก เนื่องจากไม่ใช่แค้ดึงสมาธิในการขับรถเท่านั้น แต่เบี่ยงเบนทัศนะการมองไปเลยทีเดียว
“สถานที่ทำการทดลอง” (ที่มาของภาพ)
Jen Gunter (2014) ต้องการทดสอบผลของการถูกทำให้ไขว้เขวขณะขับรถว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางรถยนต์มากน้อยเพียงใด แต่เนื่องจากไม่สามารถวิเคราะห์โดยคนๆ เดียวกันได้ ซึ่งนับเป็นปัญหาประการหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ คนที่มีคุณสมบัติเหมือนกันเปี๊ยบ แต่ขับรถแบบไม่พิมพ์ข้อความกับพิมพ์ข้อความจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างกันอย่างไร เขาจึงทำการทดลองจากผลของการพิมพ์ข้อความที่มีต่อผลลัพธ์ของการขับรถในเกม Mario Kart แทน
การใช้เกม Mario Kart มาทำการทดลองเพื่อหาผลดังกล่าว นับได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของเศรษฐศาสตร์การทดลอง (Experimental Economics) ซึ่งนับเป็นการทดลองอย่างง่าย เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ที่แยกเหตุและผลไม่ออก (Causality Problem)
Gunter (2014) ทำการทดลองจาก 9 คนที่เล่นเกม Mario Kart เป็นประจำ โดยเขาทำการเก็บรายละเอียดอายุ ประสบการณ์การเล่นเกม (Gaming Experience) ประสบการณ์พิมพ์ข้อความ (Texting Experience) และประสบการณ์การขับรถ (Driving Experience) ของคนเหล่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้น ทุกคนที่ทำการทดลองจะใช้ตัวละคร Toad คู่กับรถแบบปกติ (Standard Car) และห้ามใช้ Booster [สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดของเกมครับ]
ทุกคนที่ร่วมทดลองต้องเล่นด่าน Moo Moo Meadows ในการแข่ง เพราะมีวัวเดินไปเดินมาในทุ่งและบนถนน ซึ่งเปรียบได้กับการมีคนเดินข้ามถนนไปมาในโลกความจริง ผู้เข้าทดลองแต่ละคนจะขับแบบปกติ 3 รอบ และอีก 3 รอบที่มีการพิมพ์ข้อความ 1 ครั้งต่อรอบ โดยเป็นข้อความคำถามที่เจาะจงคำตอบ เช่น หนังที่คุณชอบคือเรื่องอะไร ตอนกลางวันคุณกินอะไรมา ซึ่งการไม่ตอบจะถือว่าถูกลงโทษโดยปรับเวลาต่อรอบเพิ่มไปอีก 30 วินาที จากนั้นทำการเปรียบเทียบเวลาที่ใช้และคะแนนที่ได้ของทั้งสองครั้งที่เล่นเกม
“ด่าน Moo Moo Meadow” (ที่มาของภาพ)
ผลการทดลองพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถเข้าสู่เส้นชัยได้ทั้งหมด เวลาเฉลี่ยที่ใช้หากไม่มีการพิมพ์ข้อความอยู่ที่ 2 นาที 3 วินาที (จากช่วง 1 นาที 47 วินาที ถึง 2 นาที 36 วินาที) และเวลาเฉลี่ยที่ใช้หากพิมพ์ข้อความอยู่ที่ 3 นาที 31 วินาที (จาก 1 นาที 54 วินาที ถึง 4 นาที 26 วินาที) โดยรอบการแข่งที่ต้องพิมพ์ข้อความใช้เวลานานขึ้นก็เนื่องมาจากรถที่ขับวิ่งออกนอกลู่ (ลงไปบนพื้นหญ้าที่ทำให้ความเร็วลดลง) ชนกับวัวที่เดินอยู่ ชนกับรั้วข้างทาง และบางครั้งวิ่งสวนทาง [อย่างไรก็ดี มีหนึ่งคนที่วางคอนโทรลเลอร์ลงเพื่อตอบข้อความโดยเฉพาะ]
วิธีที่ผู้เข้าร่วมการทดลองใช้ในการตอบข้อความจำแนกออกได้เป็นสามแบบ หนึ่งคือ ยกหน้าจอโทรศัพท์ให้มาอยู่ในระดับเดียวกันกับจอทีวี สองคือ ถือโทรศัพท์ไว้ด้วยมือเดียวเพื่อพิมพ์ จากนั้นใช้สายตามองสลับไปสลับมาระหว่างจอโทรศัพท์กับจอทีวี กับสามคือ ละออกจากเกมแข่งรถเพื่อพิมพ์ข้อความตอบ (ดูภาพที่ ๑ ๒ และ ๓ ตามลำดับ)
“ภาพที่ ๑ ผู้ร่วมการทดลองยกหน้าจอโทรศัพท์ให้มาอยู่ในระดับเดียวกันกับจอทีวี” (ที่มาของภาพ)
“ภาพที่ ๒ ผู้ร่วมการทดลองถือโทรศัพท์ไว้ด้วยมือเดียวเพื่อพิมพ์และใช้สายตามองสลับไปสลับมาระหว่างจอโทรศัพท์กับจอทีวี” (ที่มาของภาพ)
“ภาพที่ ๓ ผู้ร่วมการทดลองละออกจากเกมแข่งรถเพื่อพิมพ์ข้อความตอบ” (ที่มาของภาพ)
ผู้เข้าร่วมการทดลอง 4 คนชนวัวในรอบที่ไม่ได้พิมพ์ข้อความ และ 7 คนชนวัวในรอบพิมพ์ข้อความ ซึ่งเท่ากับว่าเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว และมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุถึง 7 ใน 9 หรือเกือบ 80% การใช้เวลาที่นานขึ้นในรอบที่มีการพิมพ์ข้อความสัมพันธ์กับประสบการณ์ในการพิมพ์ข้อความและการเล่นเกม ซึ่งทั้งจำนวนครั้งที่มีการชนวัว รั้ว หรืออุบัติเหตุอื่น และเวลาที่ใช้ในการขับรถมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการพิมพ์ข้อความระหว่างขับ
แม้ว่าการทดลองนี้จะไม่ซับซ้อนและใช้กลุ่มตัวอย่างที่น้อย ทำให้อาจไม่ได้น่าเชื่อถือมากนัก แต่ก็เป็นการทดลองที่น่าสนใจและน่าจะจุดประกายความคิดให้กับการทดลองอื่นตามมา อย่างน้อยที่สุด ข้อสรุปที่แม้ว่าจะไม้ได้ยืนยันตัวเลขการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่ก็ยืนยันได้ว่า การพิมพ์ข้อความระหว่างขับรถมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างแน่นอนครับ ^^
ที่มา: The effect of texting on Mario Kart performance, new study.
Pingback: Traffy ITS Cast ตอนที่ 1 | Traffy Information Portal - โครงการประเมินและรายงานสภาพจราจร