“นิรโทษกรรม”ส่งเสริมความปรองดองหรือไม่?
จุดเริ่มต้นคือรัฐบาลต้องการความปรองดองให้กับคนในสังคม แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ถูกเสนอคือกฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะ set zero ซึ่งบทความวิชาการชี้ว่าไม่ว่าจะเป็น set zero ในรูปแบบใดก็ตาม นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดความปรองดองแล้ว ยังส่งผลลบต่อความร่วมมือของคนในสังคมเข้าไปอีกในระยะยาว
……….
สวัสดีครับ เพื่อนๆ ทุกท่าน หายหน้าหายตาไปนานเพราะมัววุ่นอยู่กับภารกิจส่วนตัวมากมายที่เพิ่งจัดการไปได้ในระดับหนึ่ง แต่สถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนก็น่าสนใจมากสำหรับสังคมไทย จนทำให้ผมนึกถึงบทความทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ชิ้นนึงขึ้นมา และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์หากได้นำมาเล่าสู่กันฟังตามวิถีทางของ [เสด-ถะ-สาด].com ครับ
“เหมาเข่ง วาทกรรมต่อต้านการนิรโทษกรรม” (ที่มาของภาพ)
รัฐบาลไทยได้พยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลตั้งต้นที่เสนอมาก่อนหน้านี้แล้วว่าเพื่อความปรองดองของคนในสับคม โดยคำว่า “นิรโทษกรรม” (Amnesty) ที่รัฐบาลกล่าวถึงนั้นมีความหมายว่า (ลืมเรื่องเก่า…แล้ว)”เริ่มต้นใหม่” (set zero) นั่นคือรัฐบาลกำลังคิดว่า ถ้ามีการเริ่มกันใหม่ทั้งหมด สังคมก็น่าจะปรองดองกันตามมา
การศึกษาเกี่ยวกับนิรโทษกรรมทางเศรษฐศาสตร์โดยตรงยังไม่มีให้เห็น เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยในโลก แต่การศึกษาเกี่ยวกับ set zero ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นมีให้เห็นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะหากเรามอง set zero เป็นรูปแบบหนึ่งของการสิ้นสุดเกม (Game Termination) ตามแนวคิดของทฤษฎีเกม แล้วลองพิจารณาว่ารูปแบบการสิ้นสุดของเกมนั้นจะมีผลกับความร่วมมือ (Cooperation) หรือความปรองดองของคนในสังคมหรือไม่
……….
Norman and Wallace (2011) ใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์การทดลอง (Experimental Economics) เพื่อทำการศึกษารูปแบบของการสิ้นสุดเกมในแบบต่างๆ ว่ามีผลต่อความร่วมมือ(หรือความปรองดอง)ของคนในสังคมหรือไม่ พวกเขาจำแนกรูปแบบการสิ้นสุดของเกมออกเป็นสี่แบบ ได้แก่
- finite horizon คือเกมที่ผู้เล่นรู้ว่าเล่นกี่รอบจึงจะจบ (ในการทดลองนี้เล่น 22 รอบ)
- unknown horizon คือเกมที่ผู้เล่นไม่รู้ว่าจะจบที่กี่รอบ (ในการทดลองนี้เล่น 28 รอบ โดยผู้เล่นไม่ทราบจำนวนรอบก่อนเล่น แต่ทราบว่ามากกว่า 22 รอบ)
- random-stopping with low probability to continue คือเกมที่เมื่อครบ 22 รอบแล้วจะมีการเล่นต่อไปด้วยความน่าจะเป็น 1/6
- random-stopping with high probability to continue คือเกมที่เมื่อครบ 22 รอบแล้วจะมีการเล่นต่อไปด้วยความน่าจะเป็น 5/6
ขณะที่ความร่วมมือของคนที่มาร่วมการทดลองจะเป็นไปตามผลได้ของเกมนักโทษทั่วไป (Payoff of prisoner’s Dilemma) ดังตารางที่ ๑ คือถ้าทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน (Cooperate) จะได้คะแนนคนละ 800 คะแนน ถ้าทั้งสองฝ่ายละเลย (Defect) จะได้กันคนละ 350 คะแนน แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะร่วมมือ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเลือกละเลย ฝ่ายแรกจะได้ 50 คะแนน แต่ฝ่ายหลังจะได้ 1000 คะแนน กุศโลบายของเกมนี้ในการทดลองก็คือมี Nash Equilibrium สองจุดคือร่วมมือทั้งคู่ หรือละเลยทั้งคู่ และยังมีแรงจูงใจให้ละเลยมากกว่าที่จะร่วมมือ เพราะจะได้ผลตอบแทนให้กับตัวเองมากที่สุด
“ตารางที่ ๑ ผลตอบแทนของเกมนักโทษ”
การทดลองใช้เวลา 45 นาที มีนักเรียนเข้าร่วม 182 คน จัดขึ้นที่ Royal Holloway College (University of London) และ University College London (UCL) ผลตอบแทนที่จ่ายจริงเฉลี่ยคนละ 7.20 ปอนด์ (ได้ไม่เท่ากันแล้วแต่คะแนนที่ได้ของแต่ละคน)
……….
ผลการทดลองแสดงได้ตามตารางที่ ๒ ข้อมูลในแถวแสดงรูปแบบของการจบเกมทั้งสี่แบบ ข้อมูลในแนวหลักแสดงลำดับครั้งที่มีการเล่น และตัวเลขในตารางแสดงถึงจำนวนของคู่ที่มีให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน
“ตารางที่ ๒ ผลการทดลองที่วัดจากจำนวนความร่วมมือ”
ค่าเฉลี่ยของความร่วมมือในแต่ละแบบอยู่ที่ 44.2% 55.0% 55.2% และ 59.1% ตามลำดับ โดยแม้ว่าค่าที่ได้จะต่างกัน แต่ไม่ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Kruskal-Wallis Test, H=1.929, d.f.=3, p=0.587) นั่นหมายความว่ารูปแบบของการจบเกม(เพื่อเริ่มต้นใหม่)ที่ต่างกันไม่มีผลทำให้ระดับความร่วมมือ(หรือปรองดอง)ของคนในสังคมต่างกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือไม่ว่าจะจบเกมอย่างไรไม่มีผลทำให้ความปรองดองของคนในสังคมต่างกัน
แล้วการจบที่ส่งผลต่อความร่วมมือไม่ต่างกันนั้น คำถามก็คือความร่วมมือ(หรือปรองดอง)ของคนในสังคมจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง หากเปรียบเทียบกับกรณีของเกมที่ไม่มีการจบ ประเด็นนี้ Douglas North (นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล) เคยชี้ให้เห็นแล้วว่าหากเกมมีการเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่มีที่สิ่นสุด (Infinite Repeated Game) สังคมจะมีความร่วมมือกันที่ดีกว่า เช่น คนในชุมชนเดียวกันจะเจอกันซ้ำๆ เป็นประจำทุกวัน ย่อมมีความร่วมมือกันมากกว่าคนในชุมชนที่ไปทำงานนอกพื้นที่และแทบไม่เจอกันในชุมชนเลย
สอดคล้องกับงานของ Norman and Wallace (2011) เองที่ได้ขยายการทดลองออกไปเพื่อดูว่าความยาวของเกมนั้นมีผลต่อความร่วมมือหรือไม่ ซึ่งข้อค้นพบก็คือเกมที่ยาวขึ้นก็จะมีความร่วมมือกันที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังตารางที่ ๓
“ตารางที่ ๓ ความยาวของเกมกับความร่วมมือ”
……….
สิ่งที่น่าสนใจจากการทดลองนี้คงไม่ใช่ว่าความร่วมมือจะสูงขึ้นหรือลดลง แต่มันอยู่ที่ว่าจะลดลงมากแค่ไหนและเมื่อไหร่ ผลการทดลองพบว่าหากเกมสามารถจบลงได้ (โดยที่ไม่จสำคัญว่าจบแบบไหนและจบเมื่อไหร่) ความร่วมมือของคนในสังคมจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญในทุกรูปแบบของการจบเกม ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่าความร่วมมือนั้นลดลงจนไม่เหลือความร่วมมือเลยหรือเหลืออยู่น้อยมาก (ค่าเข้าใกล้ศูนย์ในตาราง) นั่นหมายความว่าไม่ว่ารูปแบบของการจบเกมจะเป็นอย่างไร จะทำลายความร่วมมือของคนในสังคมจนหมดไป
สาเหตุที่ความร่วมมือลดลงอย่างมากนั้น เนื่องจากการ set zero จะก่อให้เกิด present-period bias กล่าวคือคนในสังคมมีแนวโน้มที่จะรีบหาประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าที่จะคิดถึงประโยชน์ระยะยาวในอนาคต เนื่องจากสามารถกำหนดการเริ่มต้นใหม่ได้ เสมอ นี่ยังไม่นับว่าหากคนที่สามารถ set zero ได้เป็นผู้มีอำนาจเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงด้วยแล้ว การ set zero ก็จะยิ่งส่งเสริมให้การแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยไม่ได้มีประโยชน์ใดใดต่อความร่วมมือ(หรือปรองดอง)ของคนในสังคมเลย
“โฆษณาของ Amnesty International ที่รณรงค์ให้ประชาชนสนใจการลงโทษนักโทษทางการเมือง” (ที่มาของภาพ)
อย่างไรก็ดี นิรโทษกรรมอาจไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเสมอไป Orrenius and Zavodny (2012) ชี้ว่าการนิรโทษกรรมให้กับแรงงานที่หลบหนีเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย(โดยที่พวกเขาไม่ก่ออาชญากรรม)จะทำให้สังคมได้ประโยชน์มากกว่าปล่อยให้ใช้การข่มขู่เพื่อการลงโทษ หรือ Dan Ariely ก็ได้กล่าวถึงการดาวน์โหลดเพลงอย่างผิดกฎหมายว่าหากมีการยกโทษให้คนที่กระทำผิดเช่นนี้ก็อาจมีแรงจูงใจให้พวกเขากลับมาซื้อเพลงที่ถูกกฎหมายบ้าง รวมทั้ง Amnesty International หรือองค์กรนิรโทษกรรมสากลก็มีความพยายามพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมทางการเมืองแล้วถูกกักขังในเวลาต่อมา แต่ทั้งสามกรณีก็ไม่ใช่การนิรโทษกรรมให้กับความผิดสาธารณะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ดี
……….
ข้อสรุปของบทความก็คือหากมีการ set zero ได้ ความร่วมมือ(หรือปรองดอง)ของคนในสังคมจะลดลงจนเกือบเป็นศูนย์เลยทีเดียว เพราะทุกคนก็ต่างจะมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวในปัจจุบันให้มากที่สุด แทนที่จะคิดถึงความร่วมมือเพื่อประโยชน์สาธารณะหรืออดทนเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต หากจะบอกว่า set zero หรือนิรโทษกรรมเพื่อความปรอองดองของคนในชาติอาจต้องกลับมาคิดใหม่อีกหลายตลบ แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน เพราะหลังจากรัฐบาลไทยพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลับเหมือนว่าคนในชาติจะปรองดองกันมากขึ้นแฮะ เพียงแต่เป็นปรองดองกันต่อต้านกฎหมายที่รัฐบาลเสนอขึ้นมาด้วยเหตุผลว่าเพื่อความปรองดอง งงดีจัง – -”
ที่มา: Normann, Hans-Theo & Wallace, Brian, 2011. “The impact of the termination rule on cooperation in a prisoner’s dilemma experiment,” International Journal of Game Theory, August 2012, Volume 41, Issue 3, pp 707-718.