เค้า “เล่นแชร์” กันยังไง?
การเล่นแชร์นั้นไม่ได้ผิดกฎหมายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แถมยังมีรูปแบบไม่ยากนักในการความเข้าใจ บทความนี้จะอธิบายวิธีการเล่นพร้อมวิธีคำนวณต่างๆ รวมทั้งมีไฟล์ EXCEL ให้ลองเล่น นอกจากนี้ การเล่นแชร์ยังสะท้อนอัตราดอกเบี้ยแบบชาวบ้านและความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในสังคมด้วย
……….
เพื่อนๆ หลายคนคงได้ยินคำว่า “เล่นแชร์” กันมาบ้าง บางคนอาจจะรู้จักดี บางคนก็แค่เคยได้ยิน หรือส่วนมากอาจจะรู้คร่าวๆ ว่าคืออะไร บทความตอนนี้ของ [เสด-ถะ-สาด].com จะไขความกระจ่างเกี่ยวกับการเล่นแชร์ และนำเสนอในบางมิติทางเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสังคมไทยของเรา
การเล่นแชร์เป็นที่รู้จักกันดีในวงกว้างของสังคมไทย โดยมักเล่นกันในหมู่คนที่ใกล้ชิดหรือรู้จักคุ้นเคยกันดี เพราะจำเป็นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน (Trust) พอสมควร ซึ่งการเล่นแชร์ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็สามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าที่เขาจะได้รับจากระบบสถาบันการเงินเช่นกัน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเล่นแชร์ (ไม่เหมือนกับแชร์ลูกโซ่) ไม่ผิดกฎหมาย โดยมี พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มารองรับ ซึ่งได้ให้ความหมายของการเล่นแชร์ไว้ว่า “การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวงด้วย”
“การเล่นแชร์” (ที่มาของภาพ)
สำหรับข้อกำหนดเพิ่มเติมมากไปกว่านี้ที่สำคัญ เผื่อว่าเพื่อนๆ อยากเล่นแชร์โดยไม่ผิดกฎหมายก็คือ ห้ามไม่ให้ประชาชนทั่วไปเป็นนายวงแชร์(ท้าวแชร์)รวมกันมากกว่า 3 วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมในทุกวงมากกว่า 30 คน หรือมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันเกินกว่า 300,000 บาทหรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่ท้าวแชร์ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดโดยไม่เสียดอกเบี้ย หากเพื่อนๆ ฝ่าฝืนก็จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
……….
คำอธิบายของการเล่นแชร์ขอเริ่มจาก คำว่า นายวงแชร์/ท้าวแชร์/เจ้ามือ ถือเป็นผู้ระดมทุน (สมมติว่า 1,000 บาท) ซึ่งจะเรียกระดมทุนจาก สมาชิกวงแชร์/ลูกแชร์ (เช่น คนละ 200 บาทจำนวน 5 คน)
จากนั้น ทุกๆ เดือนลูกแชร์จะทำการประมูลกันในวงแชร์เพื่อแย่งเงินก้อนด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุด ซึ่งเรียกว่า “เปียแชร์” โดยคนที่เสนออัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดจะได้เงินก้อนของเดือนนั้นไป (เช่น มีลูกแชร์เปียมาสามคน เสนอดอกที่ 10, 20 และ 30 บาท คนที่เปีย 30 บาทจะได้เงินกองกลางไปใช้) แต่หลังจากนั้นจะต้องเงินสมทบ (200 บาท) พร้อมดอก (30 บาท) ในทุกเดือนที่เหลือ นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดส่วนใหญ่มักมีธรรมเนียมให้ผู้ที่เปียได้ต้องเลี้ยงโต๊ะจีนด้วย
……….
อย่างไรก็ตาม การส่งเงินสมทบพร้อมดอกของวงแชร์มีอยู่สองแบบ คือ แชร์ดอกหัก และแชร์ดอกตาม
1 แชร์ดอกหัก คือแชร์ที่ผู้เล่นยังไม่ได้เปียหรือประมูล จะหักเงินที่ส่งจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยที่ประมูลในงวดนั้น ตัวอย่างเช่น แชร์มือละ 200 บาท หากผู้เปียได้ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 30 บาท ผู้เล่นแต่ละคนที่ยังไม่ได้เปียจะหักเงินไว้ 30 บาท แล้วจึงให้ผู้เปียได้เท่ากับ 200-30 หรือ 170 บาท ส่วนผู้ที่เปียได้แล้วจะจ่ายเต็ม 200 บาท จากตัวอย่าง ถ้าคนที่สามเปียได้ที่ 30 บาท แผนผังการจ่ายเงินจะเป็นดังนี้
คนที่ 1 จ่ายเงิน 200 (คนที่ 1 เป็นท้าวแชร์)
คนที่ 2 จ่ายเงิน 200 (เปียไปแล้ว)
คนที่ 3 จ่ายเงิน 200 (เป็นผู้เปียได้โดยให้ดอกเบี้ย 30 บาท)
คนที่ 4 จ่ายเงิน 170 (ยังไม่ได้เปีย)
คนที่ 5 จ่ายเงิน 170 (ยังไม่ได้เปีย)
คนที่สามซึ่งเป็นผู้เปียได้ จะได้เงินรวมทั้งของตนเอง เท่ากับ 940 บาท โดยคนที่สี่และคนที่ห้ายังไม่ได้เปีย จะจ่ายให้กับผู้เปียเพียง 170 บาท โดยหักดอกเบี้ยคนที่สามเปียได้คนละ 30 บาทและคนที่สามที่เปียได้นี้ ในเดือนต่อ ๆ ไป จะต้องจ่ายเต็ม 200 บาท โดยไม่มีสิทธิ์รับดอกเบี้ยจากผู้เปียรายต่อไป
“โพยวงแชร์” (ที่มาของภาพ)
2 แชร์ดอกตาม คือแชร์ที่ผู้เปียได้จะต้องจ่ายค่าหุ้นรวมกับค่าดอกเบี้ยที่เปียในงวดต่างๆ ที่ถัดออกไป หลังจากงวดที่ประมูลได้ ทำให้จำนวนเงินของคนที่สามจะได้รับจะต่างกับแชร์ดอกหัก ตามแผนผังการจ่ายเงินดังนี้
คนที่ 1 จ่ายเงิน 200 (คนที่ 1 เป็นท้าวแชร์ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย)
คนที่ 2 จ่ายเงิน 220 (คนที่ 2 เปียดอกเบี้ย 20 บาท เมื่อเดือนก่อน ดังนั้นในเดือนต่อๆ ไป ต้องจ่ายเดือนละ 220 บาท)
คนที่ 3 จ่ายเงิน 200 (คนที่ 3 เปียได้ในเดือนที่ 30 บาท แต่งวดที่เปียได้ยังไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย)
คนที่ 4 จ่ายเงิน 200 (คนที่ 4 ยังไม่ได้เปีย)
คนที่ 5 จ่ายเงิน 200 (คนที่ 5 ยังไม่ได้เปีย)
คนที่สามจึงจะได้รับเงินรวมทั้งสิ้น 1020 บาท โดยได้รับดอกเบี้ยจากคนที่สองเท่ากับ 20 บาท
ดังนั้น งวดถัดๆ ไปของวงแชร์ เงินทุนจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (หรือมีการส่งเงินต้นลดลงเรื่อยๆ) จากการเปียแชร์ในงวดก่อนๆ
สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังงงๆ อยู่ แต่อยากจะตั้งวงแชร์ Pooh and Tee (2011) ได้สร้าง Excel worksheet share calculation เพื่อใช้คำนวณหาผลตอบแทนเป็นร้อยละต่อปีเพื่อประกอบการเล่นแชร์ได้ อย่างไรก็ดี ยอดดอกเบี้ยที่จะได้รับจริงขึ้นกับการเปียในแต่ละงวด จึงจะสรุปได้จริงๆ เมื่อการเล่นแชร์วงนั้นจบลงแล้ว (ใน worksheet ใช้สมมติฐานว่าหนึ่งงวดเท่ากับหนึ่งเดือน)
……….
คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในรูปตัวเงินจากการเล่นแชร์มีสองคน คนแรกคือคนที่ไม่เคยเปียเลย เพราะเมื่อถึงงวดสุดท้าย เขาจะเปียไปด้วยดอกเบี้ย 0 บาท เพราะไม่มีคู่แข่งเหลือแล้ว และยังได้เงินเพิ่มจากการเปียของคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ด้วย แต่ในอีกด้าน เขาเองก็จะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดด้วย หากลูกแชร์บางคนเกิดเบี้ยวขึ้นมา เขาก็จะได้เงินไม่ครบเช่นกัน
ขณะที่อีกคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์คือ ท้าวแชร์ เพราะเขาจะได้เงินงวดแรกไปใช้โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่ท้าวแชร์จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและตามทวงหนี้ไม่ให้มีคนเบี้ยว และหากมีคนเบี้ยว ลูกแชร์ก็จะตามทวงกับท้าวแชร์แทน
……….
ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การเล่นแชร์จึงสะท้อนสังคมอย่างน้อยในสองเรื่องหลักๆ เรื่องแรก ดอกแชร์มันคืออัตราดอกเบี้ยแบบชาวบ้านรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่สะท้อนมาจากความต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วนของประชาชนทั่วไป โดยเขาอาจจะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน หรืออาจจะไม่สะดวกในการเข้าถึงก็ตามแต่ ซึ่งน่าจะมีการเก็บข้อมูลแล้วเอาไปคิดต่อบ้างว่า อัตราดอกเบี้ยเหล่านี้มีแบบแผนการปรับตัวอย่างไร
ขณะที่อีกเรื่องหนึ่ง มันสะท้อนความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในสังคม ซึ่งมันเป็นรูปแบบหนึ่งของทุนทางสังคม (Social Capital) นั่นคือ หากวงแชร์มีจำนวนมาก มันย่อมหมายถึงความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมีมากตามไปด้วย โดยเรื่องนี้ก็น่าจะถูกนำไปคิดต่อเช่นกัน
ที่มา:
ชลธิชา พรรณสมัย (2551) การเล่นแชร์. ออนไลน์ที่นี่.
ถิรภาพ ฟักทอง (2009) การเล่นแชร์ในมุมมองหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์. ออนไลน์ที่นี่.
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ (2010) เข้าใจต้นทุนการเงินผ่านการเล่นแชร์. ออนไลน์ที่นี่.
Pooh and Tee (2011) ว่าด้วยการเล่นแชร์ และ worksheet สำหรับคำนวณดอกเบี้ยแชร์. ออนไลน์ที่นี่.
featured image from mywastedbreath.blogspot.com