ประชาธิปไตยเป็น“สินค้าปกติ”หรือไม่?
เราเชื่อกันว่าเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสูงขึ้น ความเป็นประชาธิปไตยก็จะสูงขึ้นตามมา ความเชื่อนี้ไม่ได้ผิด เพียงแต่ประเทศที่ว่านั้น ต้องเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่หากว่าประเทศนั้นๆ ยังไม่เป็นประชาธปไตยล่ะ เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสูงขึ้น แล้วระดับประชาธิปไตยจะสูงขึ้นจริงหรือ
……….
นานมาแล้วที่เราเชื่อ และถูกทำให้เชื่อว่า เมื่อประชาชนในประเทศมีรายได้สูงขึ้น หรือระบบเศรษฐกิจในประเทศเติบโตขึ้น ประชาธิปไตยก็จะดีขึ้นๆ เรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะเรามองเห็นว่า ประเทศที่ร่ำรวยก็จะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยที่สูงกว่า สำทับด้วยงานวิชาการที่มีชื่อเสียงอย่างน้อยสองฉบับที่ให้ข้อสรุปว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดความต้องการประชาธิปไตยที่สูงขึ้น” (Economic development generate increased demand for democracy.) ได้แก่ งานของ Lipset (1959) และ Huntington (1991)
ข้อสรุปของ Lipset และ Huntington ในทางเศรษฐศาสตร์อาจเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยในความเห็นของนักวิชาการทั้งสองท่านมีลักษณะเป็นสินค้าปกติ (Normal Good) เนื่องจากหากประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ความต้องการประชาธิปไตยก็จะเพิ่มสูงขึ้น
“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์หนึ่งของประชาธิปไตยไทย”
ตามมาด้วยงานวิจัยเชิงประจักษ์ของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Barro (1996) ที่ประมาณค่าสมการที่มีตัวแปรตามคือระดับการพัฒนาประชาธิปไตย และพบว่าระดับ GDP ที่สูงขึ้น 1% จะทำให้ระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงขึ้น 5.1% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น Barro (1996) จึงให้ข้อสรุปที่ชัดเจนไปอีกว่า นอกจากประชาธิปไตยจะเป็นสินค้าปกติแล้ว ยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury Good) ประเภทหนึ่งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การตีความของ Barro มีข้อบกพร่องอยู่สองประการ หนึ่งคือ Barro ประมาณค่าสมการระดับ GDP กับระดับประชาธิปไตย ซึ่งการที่ระดับ GDP ที่ต่ำ อย่างเช่นในประเทศที่เป็นระบอบเผด็จการนั้น ที่จริงแล้วมันบอกไม่ได้ว่าประชาชนไม่ต้องการประชาธิปไตย สองคือ ต้นทุนและผลได้ของการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในประเทศที่เป็นเผด็จการหรือเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วนั้นมีความแตกต่างกันสูงมาก เช่น ในจีนหรือในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Barro ไม่ได้คำนึงถึงประเด็นนี้
……….
Minier (2001) ตั้งคำถามต่อว่า หากเราเชื่อว่าประชาชนในประเทศที่เป็นเผด็จการก็มีความต้องการประชาธิปไตยไม่ต่างจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาธิปไตยยังมีลักษณะเป็นสินค้าปกติ และสินค้าฟุ่มเฟือยดังเช่นที่นักวิชาการทั้งสามคนข้างต้นว่ามาหรือไม่ ซึ่งลึกๆ ในใจเขาแล้ว ประชาชนเหล่านี้เสียอีกที่มีความต้องการประชาธิปไตยที่มากกว่า
นิยามของ “ความต้องการประชาธิปไตย” ถูกวัดโดยการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย (Democratic Movement) ประกอบด้วยสามเกณฑ์ ได้แก่ หนึ่ง ต้องมีจำนวนคนที่มาร่วมเคลื่อนไหวมากพอ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศนั้นๆ สอง ต้องมีการแสดงออกทางกายภาพที่ชัดเจน เช่น ลงคะแนนเสียงต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร งดเว้นการใช้สิทธิหากมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวลงเลือกตั้ง ออกมาชุมนุมหรือเดินขบวนประท้วง และสาม ต้องมีเป้าประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อประชาธิปไตย การเลือกตั้ง หรือเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งได้ข้อมูลการเคลื่อนไหวทั้งสิ้น 32 ครั้ง จาก 22 ประเทศ ในช่วง 1960-1990
“Nelson Mandela กับคุกที่เขาเคยถูกกักขัง” (ที่มาของภาพ)
Minier (2001) ยังได้เพิ่มเติมในประเด็นที่ Barro ละเลยไป คือเรื่องของผลได้และต้นทุนของประชาชนที่ออกมาทำการเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย
- ในประเด็นของผลได้นั้น ประชาชนย่อมรู้ดีว่า การที่พวกเขายิ่งออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้รับชัยชนะในการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (Increase Probability) และหากได้รับชัยชนะ เสรีภาพทางการเมือง (เพิ่ม utility) และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากการเป็นประชาธิปไตยก็จะตามมา แน่นอนว่า อาจมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Good) ย่อมมีปัญหาการบริโภคของฟรี (Free-Rider) เกิดขึ้น แต่หากผู้นำในการเคลื่อนไหวมีพลังดึงดูด (Charisma) มากพอ อย่างเช่น ออง ซาน ซู จี หรือ เนลสัน แมนเดลลา ปัญหานี้ก็จะลดลงไป
- ขณะที่ต้นทุนของการเคลื่อนไหวมีสองส่วน ต้นทุนทางตรงของการเคลื่อนไหว (Direct Cost) เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะ บาดเจ็บ หรือตาย ซึ่งพิจารณาได้จากวิธีการปฏิบัติของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต้นทุนทางอ้อม หรือค่าเสียโอกาสของการเคลื่อนไหว (Opportunity Cost) เช่น ค่าจ้างที่เสียไปอันเนื่องจากหยุดงาน โอกาสที่จะตกงาน หรือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในอนาคต เป็นต้น
……….
ความน่าจะเป็นของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย (Probability of Democratic Movement Occurring) เป็นตัวแปรตามในแบบจำลอง Logit โดยจากตารางที่ ๑ สมการที่ 1 เป็นสมการที่อ้างอิงงานของ Barro ขณะที่สมการที่ 2 เพิ่มปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลได้และต้นทุนเข้าไป
ตัวแปรที่สนใจคือ GDP และ GDP2 เพราะเป็นตัวแปรที่อธิบายความต้องการประชาธิปไตยที่ถูกแสดงออกด้วยการเคลื่อนไหว ซึ่งทั้งสองสมการให้ผลที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยค่าสัมประสิทธิ์หน้า GDP เป็นบวก และค่าสัมประสิทธิ์หน้า GDP2 เป็นลบ ซึ่งหมายความว่า ผลของ GDP ที่มีต่อความน่าจะเป็นของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นโค้งคว่ำ และมีจุดสูงสุดอยู่ที่ $4,973 และ $4,799 ตามลำดับ [ตัวเลขกลมๆ ก็คือ $5,000]
“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าแบบจำลอง Logit ของความน่าจะเป็นในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย”
……….
เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยยากจน พวกเขาจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเพิ่มสูงขึ้น นั่นคือ ประชาธิปไตยเป็นสินค้าปกติ (Positive Income Effect Dominates) จนกระทั่งหากประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่รายได้เฉลี่ยของประชาชนสูงเกินกว่า $5,000 ความน่าจะเป็นที่พวกเขาจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจะค่อยๆ ลดลง (Negative Substitution Effect Dominates) หรืออาจเรียกว่า ประชาธิปไตยคล้ายกับเป็นสินค้าด้อยแทน (Inferior Good) เนื่องจากต้นทุนของการเรียกร้องประชาธิปไตยจะสูงเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ ทั้งค่าจ้าง เงินเดือน โอกาสที่จะตกงาน หรือแม้กระทั่ง ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตหากเป็นประชาธิปไตยแล้ว
ความหมายโดยนัยที่น่าสนใจของบทความนี้ก็คือ ประเทศใดก็ตามที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบในช่วงที่รายได้เฉลี่ยของประชาชนต่ำกว่า $5,000 แล้ว หลังจากนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มทำได้ยากขึ้น เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสและความกลัวการเปลี่ยนแปลงของคนจำนวนหนึ่ง(และมากขึ้นเรื่อยๆ)ในการเรียกร้องจะสูงขึ้นจนชดเชยผลได้จากการเป็นประชาธิปไตยจนหมด และเมื่อนั้นก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยได้
แนวคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาสนี้ยังสอดคล้องกับประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาในบางมุม ซึ่งการเรียกร้องครั้งใหญ่ในอดีตนั้นกระทำโดยนักศึกษา และนักศึกษาที่มีบทบาทอย่างมากก็เพราะพวกเขามีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ต่ำ หมายความว่า พวกเขายังไม่ได้ทำงาน ไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง และหากเรียกร้องสำเร็จ อนาคตของเขาก็จะดีขึ้นด้วย แต่ต้องยอมรับว่า บทบาทของนักศึกษาในปัจจุบันที่ลดลงไปก็อาจด้วยสาเหตุหลายประการ ตามแนวคิดนี้ก็คือ พวกเขาได้รับเงินใช้จ่ายจากพ่อแม่ที่มีฐานะดีขึ้นกว่าในอดีตมาก การเคลื่อนไหวใดก็ตามที่อาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของครอบครัว ย่อมส่งผลต่อตัวเขาเองด้วย และนี่คือแรงกดดันหนึ่งจากความกลัวการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาลดลงไป
ที่มา: Minier, Jenny, Is Democracy a Normal Good? Evidence from Democratic Movements. Southern Economic Journal.